1. Home
  2. »
  3. OR Transparency Centre
  4. »
  5. Maximum Permissible Error

อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด

อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด

กฎหมายที่ควบคุมปริมาณน้ำมันที่ผู้บริโภคต้องได้รับในการเติมน้ำมัน การบังคับใช้ และบทลงโทษทางกฎหมาย

เลือกหัวข้อที่คุณสนใจ

รู้หรือไม่?

จาก 180,000 หัวจ่ายของปั๊มทั่วประเทศ

สำนักชั่งตวงวัดพบหัวจ่ายที่จ่ายน้ำมันขาด

เพียง 11 หัวจ่าย

หรือคิดเป็นเพียง 34 สถานี จาก 13,366 สถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ

รู้หรือไม่?

จาก 180,000 หัวจ่ายของปั๊มทั่วประเทศ สำนักชั่งตวงวัดพบหัวจ่ายที่จ่ายน้ำมันขาด

เพียง 11 หัวจ่าย​

หรือคิดเป็นเพียง 34 สถานี จาก 13,366 สถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ

ทำไมต้องมีอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด

อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด คืออะไร ทำไมต้องมี

เข้าใจข้อกำจัดของการวัด และการใช้ในระดับสากล
คืออะไร ทำไมต้องมี

อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด (Maximum Permissible Errors: MPE) เป็นหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยสำนักชั่งตวงวัด กรมการค้าภายใน สังกัดกระทรวงพาณิชย์ โดยตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ หมายถึง ค่าความคลาดเคลื่อนสูงสุดที่ยอมให้มีระหว่างค่าที่อ่านได้จากเครื่องมือวัดกับค่าที่แท้จริงของปริมาณที่ทำการวัด

ค่าอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดนี้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการผลิต การใช้งาน และการตรวจสอบเครื่องมือวัดต่างๆ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางกฎหมาย ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อาหารและเครื่องดื่ม การแพทย์ และการผลิต ช่วยให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่มีคุณภาพและตรงตามมาตรฐานที่กำหนดไว้

ทำไมต้องมีเผื่อเหลือเผื่อขาด

การวัดปริมาณในทางปฏิบัติมีข้อจำกัดหลายเรื่องที่อาจส่งผลต่อความแม่นยำของการวัด เช่น เครื่องมือ ความผันแปรของสิ่งที่วัด รวมถึงความคลาดเคลื่อนจากผู้ทำการวัด

อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด (Maximum Permissible Errors: MPE) จึงเป็นหลักการที่กำหนดขึ้นมาและถูกใช้ในระดับสากลเพื่อสะท้อนข้อจำกัดเหล่านี้ โดยกำหนดขอบเขตที่ยอมรับได้ของความคลาดเคลื่อน เพื่อให้การวัดยังคงมีความหมายและสามารถนำไปใช้งานได้จริง

  • ข้อจำกัดของเครื่องมือวัด: ไม่มีเครื่องมือวัดใดที่สมบูรณ์แบบ เครื่องมือทุกชนิดมีความละเอียดจำกัดในการวัด และอาจมีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น สภาพแวดล้อม การเสื่อมสภาพ หรือแม้แต่ข้อจำกัดในการผลิต
  • ความผันแปรของสิ่งที่ถูกวัด: สิ่งที่เราวัดอาจมีความผันแปรตามธรรมชาติ หรือเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะต่าง ๆ อุณหภูมิ ความชื้น หรือการใช้งาน ทำให้ค่าที่วัดได้มีความแตกต่างกันในแต่ละครั้ง เช่น ของเหลวอาจมีการขยายตัวเมื่ออุณหภูมิสูง ทำให้ปริมาตรที่วัดได้ไม่ถูกต้อง
  • ความคลาดเคลื่อนจากผู้ทำการวัด: มนุษย์มีความแตกต่างกันในการรับรู้และการตัดสินใจ แม้จะใช้เครื่องมือเดียวกัน คนสองคนอาจอ่านค่าได้ไม่เท่ากัน หรือตีความผลการวัดต่างกัน

อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดในชีวิตประจำวัน

ความจริงแล้ว อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดไม่ไช่หลักการที่ถูกใช้แค่ในอุตสาหกรรมน้ำมัน แต่ครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งสามารถพบเห็นได้สินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน เช่น

  • เครื่องดื่ม เช่น น้ำเปล่า น้ำดื่มโซดา หากสังเกตจะพบว่าปริมาณเครื่องดื่มในแต่ละขวดจะมีปริมาณแตกต่างกันเล็กน้อย ไม่เท่ากันทั้งหมด แต่ทุกขวดอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายควบคุม
  • อาหารถุง เช่น ขนมขบเคี้ยว ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งประเภทสินค้าที่ไม่สามารถควบคุมให้ปริมาณของชิ้น และน้ำหนักชิ้นในแต่ละถุงเท่ากันทั้งหมด จึงมีความแตกต่างกันเล็กน้อย แต่อยู่ในเกณฑ์ที่กฏหมายควบคุมไว้เช่นกัน 
  • เครื่องปรุง เช่น น้ำปลา ซอสต่าง ๆ เป็นสินค้าประเภทของเหลวในชีวิตประจำวันที่เราสามารถเห็นความแตกต่างกันเล็กน้อยในแต่ละขวดได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าในชีวิตประจำวันอีกมากมายที่อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดถูกใช้เพื่อควบคุมให้ปริมาณของสินค้าที่แสดงต่อผู้บริโภค กับปริมาณสุทธิเที่ยงตรง ถูกต้องเป็นธรรมต่อผู้บริโภค โดยมีสำนักชั่งตวงวัด กรมการค้าภายใน (DIT) เป็นผู้กำกับดูแล

อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดในต่างประเทศ

ในต่างประเทศมีการกำหนดอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด (Maximum Permissible Errors: MPE) เช่นเดียวกับประเทศไทย หลายประเทศมีหน่วยงานและมาตรฐานที่กำหนดค่า MPE เพื่อควบคุมและตรวจสอบความถูกต้องของการวัดในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์และบริการมีคุณภาพตามที่กำหนด

สหรัฐอเมริกา

ในสหรัฐอเมริกา การกำหนดมาตรฐานที่ใช้ในการตรวจสอบและควบคุมเครื่องมือวัดต่าง ๆ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานชื่อว่า National Institute of Standards and Technology (NIST) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ โดยมีหน้าที่กำหนดและส่งเสริมมาตรฐานการวัดในระดับประเทศ

NIST จะจัดทำเอกสารคู่มือมาตรฐานการตรวจสอบและควบคุมเครื่องมือวัดที่เรียกว่า NIST Handbook 44 โดยร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้มีมาตรฐานที่ครอบคลุมและเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ ซึ่งในคู่มือดังกล่าวมีการกำหนดอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดสำหรับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมไว้ดังตารางด้านล่าง (NIST Handbook 44)

สหภาพยุโรป

ในสหภาพยุโรป (European Union) มีการกำหนดมาตรฐานสำหรับเครื่องมือวัดที่ใช้ในการค้าที่เรียกว่า Measuring Instruments Directive (MID) 2014/32/EU โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องมือวัดที่วางจำหน่ายในตลาด EU มีความแม่นยำ น่าเชื่อถือ และเป็นไปตามข้อกำหนดด้านมาตรวิทยาที่จำเป็น

MID ครอบคลุมเครื่องมือวัดที่หลายประเภท รวมถึงมาตรวัดน้ำ มาตรวัดก๊าซ เครื่องวัดความร้อน เครื่องวัดไฟฟ้า เครื่องชั่ง และอื่น ๆ โดยสำหรับของเหลว ซึ่งรวมถึงการวัดน้ำมัน มีการกำหนดค่าอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ดังตารางด้านล่าง (MID 2014/32/EU)

ข้อกำหนดสำหรับสถานีบริการน้ำมัน

ข้อกำหนดสำหรับสถานีบริการน้ำมัน

กฏเกณฑ์และบทลงโทษ
หลักเกณฑ์สำหรับน้ำมันเป็นอย่างไร

สำนักชั่งตวงวัด กรมการค้าภายใน สังกัดกระทรวงพาณิชย์กำหนดให้มีค่าความคลาดเคลื่อนของอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดสำหรับสถานีบริการน้ำมัน 2 ค่า ดังนี้

  • ค่าอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด สำหรับการให้คำรับรองและการต่ออายุคำรับรอง ที่ ±0.3% ซึ่งเป็นค่าที่ใช้สำหรับการตรวจสอบสถานีบริการน้ำมันก่อนเปิดให้บริการครั้งแรก โดยจะมีอายุคำรับรอง 1 ปี เมื่อครบกำหนดสถานีบริการจะต้องได้รับการตรวจโดยสำนักชั่งตวงวัดอีกครั้ง จึงจะสามารถให้บริการต่อได้
  • ค่าอัตราเผื่อแหลือเผื่อขาด สำหรับการตรวจสอบระหว่างใช้งาน ที่ ±0.5% ซึ่งเป็นค่าที่ใช้สำหรับการตรวจรายเดือนหรือการตรวจแบบสุ่มตรวจระหว่างเปิดให้บริการภายในช่วงระยะเวลา 1 ปีของคำรับรอง โดยสาเหตุที่ค่าอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดระหว่างใช้งานสูงกว่าค่าที่ใช้สำหรับคำรับรอง เนื่องจากธรรมชาติของเครื่องจักรอาจเสื่อมสภาพจากระยะเวลาการใช้งาน

 
จริงหรือไม่? หากเติม 1 ลิตรแล้วคลาดเคลื่อน 30 มิลลิลิตร แปลว่าถ้าเติม 5 ลิตรจะคลาดเคลื่อน 150 มิลลิลิตร​

ไม่เป็นความจริง การคลาดเคลื่อนในอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงเป็นทวีคูณตามปริมาณที่คลาดเคลื่อน การตรวจสอบแต่ละครั้งจากหัวจ่ายเดียวกันสามารถคลาดเคลื่อนได้ในทั้งทางบวกและทางลบ เช่น

  • ตรวจสอบครั้งแรกที่ปริมาตร 5 ลิตร พบคลาดเคลื่อน +10 มิลลิลิตร (เกิน) 
  • เมื่อตรวจสอบอีกครั้งด้วยปริมาตร 5 ลิตรเท่าเดิม สามารถพบการคลาดเคลื่อน -5 มิลลิลิตร (ขาด) ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ปริมาณที่แตกต่างกันอาจพบการคลาดเคลื่อนไม่เท่ากันได้ด้วย เช่น 

  • ตรวจสอบครั้งแรกที่ปริมาตร 5 ลิตร พบคลาดเคลื่อน +10 มิลลิลิตร (เกิน)
  • เมื่อตรวจสอบอีกครั้งด้วยปริมาตร 10 ลิตร สามารถพบการคลาดเคลื่อน -15 มิลลิลิตร (ขาด) ได้เช่นกัน 

การคลาดเคลื่อนจึงเกิดได้ทั้งบวกและลบในการตรวจสอบแต่ละครั้ง ดังนั้น ในการจ่ายน้ำมันแต่ละครั้ง ของแต่ละหัวจ่าย ในแต่ละปริมาตร มีโอกาสที่จะคลาดเคลื่อนได้ในทั้งทางบวกและทางลบ ไม่ได้มีการคลาดเคลื่อนในลักษณะทวีคูณตามปริมาตรในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง

ปั๊มน้ำมันสามารถปรับแต่งหัวจ่ายเองได้ไหม

ไม่ได้โดยเด็ดขาด การกระทำใด ๆ กับมาตรวัดน้ำมันที่อาจทำให้ปริมาณการจ่ายน้ำมันคลาดเคลื่อน แม้จะเป็นการกระทำเพื่อแก้ไขซ่อมแซม แต่ดำเนินการโดยผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักชั่งตวงวัด มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 280,000 บาท ดังนั้น การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับมาตรวัดน้ำมัน ต้องดำเนินการโดยสำนักชั่งตวงวัดและผู้ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักชั่งตวงวัดเท่านั้น

บทลงโทษหากปั๊มกระทำผิด

การใช้หัวจ่ายน้ำมันที่ไม่มีคำรับรอง/คำรับรองสิ้นอายุ และการจ่ายน้ำมันคลาดเคลื่อน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการดัดแปลงหัวจ่ายน้ำมันหรือเครื่องชั่งตวงวัดใดๆ มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 280,000 บาท

ปั๊มน้ำมันได้รับการตรวจหัวจ่ายบ่อยแค่ไหน

ปั๊มน้ำมันได้รับการตรวจหัวจ่ายบ่อยแค่ไหน

วิธีการตรวจของสำนักชั่งตวงวัด​

การตรวจของสำนักชั่งตวงวัด

สำนักชั่งตวงวัดมีขั้นตอนและวิธีการตรวจสถานีบริการน้ำมันอย่างไรบ้าง
การตรวจเพื่อให้ได้คำรับรอง

สำหรับการตรวจสอบเพื่อออกคำรับรอง เจ้าหน้าที่สำนักชั่งตวงวัดจะเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบหัวจ่ายน้ำมัน โดยใช้ถังตวงที่มีปริมาตร 5 ลิตร และ 20 ลิตร ตรวจสอบความถูกต้องของมาตรวัดหัวจ่ายน้ำมันด้วยวิธีการตรวจสอบอย่างละเอียด เพื่อให้มั่นใจว่ามาตรวัดอยู่ในสภาพใช้การได้ ภายใต้อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดที่กำหนด โดยมีวิธีการตรวจสอบดังนี้ 

  1. ตรวจสอบที่ปริมาตร 5 ลิตร ให้อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด สำหรับให้คำรับรองที่ ±15 มิลลิลิตร (± 0.3%)
  2. ตรวจสอบที่ปริมาตร 20 ลิตร ให้อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด สำหรับให้คำรับรองที่ ±60 มิลลิลิตร (± 0.3)
  3. ตรวจสอบค่าคลาดเคลื่อนของทุกอัตราการไหล
    3.1 ตรวจสอบที่ปริมาตร 5 ลิตร ด้วยอัตราการไหลประมาณ 4 – 6 ลิตรต่อนาที ความคลาดเคลื่อนต้องไม่เกิน 15 มิลลิลิตร (± 0.3%)
    3.2 ตรวจสอบที่ปริมาตร 20 ลิตร ด้วยอัตราการไหลประมาณ 18 – 22 ลิตรต่อนาที ความคลาดเคลื่อนต้องไม่เกิน 60 มิลลิลิตร (± 0.3%)

การตรวจระหว่างการใช้งาน

สถานีบริการต้องตรวจสอบความคลาดเคลื่อนของการจ่ายน้ำมันอย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือน พร้อมทำบันทึกส่งให้เจ้าหน้าที่สำนักชั่งตวงวัดโดยใช้ถังตวง 5 ลิตรแบบมาตรฐาน ตรวจสอบหัวจ่ายทุกหัว โดยใช้วิธีการตรวจสอบดังนี้

  1. ตรวจสอบที่ปริมาตร 5 ลิตร ด้วยอัตราการไหล 4 – 6 ลิตรต่อนาที โดยทำการตรวจสอบทุกหัวจ่าย
  2. อ่านค่าปริมาตรที่ตวง ต้องมีความคลาดเคลื่อนไม่เกิน 25 มิลลิลิตร (± 0.5%)
  3. บันทึกลงในแบบฟอร์มทดสอบมาตรวัด นำส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่สำนักชั่งตวงวัดในพื้นที่
  4. หากพบหัวจ่ายที่มีความคลาดเคลื่อนที่เกินจากอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดที่กำหนด สถานีบริการจะต้องหยุดจ่ายน้ำมันด้วยหัวจ่ายนั้นทันที และประสานงานศูนย์ซ่อมบำรุงเข้าแก้ไขก่อนเปิดใช้บริการหัวจ่ายดังกล่าวอีกครั้ง

การกำกับดูแลตู้จ่ายน้ำมัน

การกำกับดูแลตู้จ่ายน้ำมัน​

หลักการในการรับรอง และกำกับดูแลการใช้ตู้จ่ายน้ำมันในประเทศไทย
ตู้จ่ายน้ำมันของแต่ละปั๊มเหมือนกันหรือไม่

ในประเทศไทย ทุกสถานีบริการน้ำมันจะต้องเลือกใช้ตู้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงจากบริษัทที่ได้รับการรับรอง การเลือกใช้ตู้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในสถานีบริการน้ำมันต้องปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานที่กำหนดโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้:

หน่วยงานกำกับดูแล
  • กรมธุรกิจพลังงาน (Department of Energy Business) ภายใต้กระทรวงพลังงาน เป็นหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลและควบคุมคุณภาพของตู้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้มั่นใจว่าตู้จ่ายน้ำมันที่ใช้ในประเทศมีมาตรฐานและความปลอดภัย
  • สำนักงานชั่งตวงวัด (Department of Internal Trade) ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ รับผิดชอบด้านการตรวจสอบและรับรองความแม่นยำของตู้จ่ายน้ำมัน เพื่อให้มั่นใจว่าตู้จ่ายน้ำมันที่ใช้งานในประเทศไทยมีความแม่นยำตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
การอนุมัติและการรับรอง
  • ตู้จ่ายน้ำมันที่ใช้ในประเทศไทยต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานจากกรมธุรกิจพลังงาน และสำนักงานชั่งตวงวัด เพื่อให้แน่ใจว่าตู้จ่ายน้ำมันมีความแม่นยำและปลอดภัยต่อการใช้งาน
  • บริษัทผู้ผลิตหรือนำเข้าตู้จ่ายน้ำมันต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะสามารถจัดจำหน่ายและติดตั้งตู้จ่ายน้ำมันในสถานีบริการน้ำมันได้

ปั๊มน้ำมันเลือกใช้ตู้จ่ายน้ำมันอะไรได้บ้าง

สถานีบริการน้ำมันในประเทศไทยต้องเลือกใช้ตู้จ่ายน้ำมันจากบริษัทที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมธุรกิจพลังงาน และตรวจสอบโดยสำนักชั่งตวงวัดแล้วเท่านั้น

ดังนั้น ตู้จ่ายน้ำมันในประเทศไทยของทุกสถานีบริการน้ำมัน จึงมีตามมาตรฐานและคุณภาพเดียวกันตามข้อกำหนดที่กำหนดโดยกรมธุรกิจพลังงานและสำนักงานชั่งตวงวัด