การบริหารจัดการความเสี่ยง

แนวทางการบริหารจัดการ(GRI 3-3d., GRI 3-3e., GRI 3-3f.)

การบริหารความเสี่ยง

           การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันมีความท้าทายที่มากขึ้น ทั้งในภาพของการแข่งขันในตลาด วิกฤตการณ์และการเปลี่ยนผ่าน การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) จึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการบริหารจัดการธุรกิจของ OR เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าการดำเนินธุรกิจสามารถบรรลุเป้าหมาย ตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล และป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอน พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสในการเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจเพื่อรักษาศักยภาพในการแข่งขันขององค์กรต่อไปในอนาคต OR จึงจัดตั้งโครงสร้างการบริหารจัดการความเสี่ยง ซึ่งกำกับดูแลโดยคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบเป็นผู้สอบทานระบบการบริหารความเสี่ยง และช่วยผลักดันให้เกิดการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพทั่วทั้งองค์กร

โครงสร้างการบริหารความเสี่ยง (Risk Governance Framework)

โครงสร้างการบริหารความเสี่ยง

             OR มีการใช้แบบจำลอง 3 ระดับ (Three Lines Model) เป็นกรอบในการกำกับดูแลและกำหนดบทบาท  ซึ่งรวมถึง 1) เจ้าของกระบวนการหรือเจ้าของความเสี่ยง (First Line) 2) หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่กำหนดมาตรฐานการควบคุมและกำกับดูแลการปฏิบัติตามข้อกำหนด (Second line) และ 3) หน่วยงานตรวจสอบภายใน (Third Line)

โครงสร้างการบริหารความเสี่ยง แบบจำลอง 3 ระดับ (Three Lines Model)

นโยบายบริหารความเสี่ยง (Risk Management Policy)

             OR ได้ประกาศนโยบายการบริหารความเสี่ยง ซึ่งกำหนดกรอบและกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกันทุกระดับในองค์กร ตามหลักเกณฑ์ของ COSO Enterprise Risk Management – Integrated Framework 2017 ซึ่งขับเคลื่อนโดยทีมบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน สังกัดฝ่ายกลยุทธ์และการบริหารการลงทุน โดยมีการเชื่อมโยงการบริหารความเสี่ยงกับกระบวนการทำกลยุทธ์และแผนธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ ให้มีความเชื่อมโยงกันในทุกระดับตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า มีการติดตามความคืบหน้าการบริหารจัดการความเสี่ยงรายไตรมาสและรายปีเพื่อรายงานต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กรและคณะกรรมการบริษัท เพื่อทบทวนประเด็นความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมความเสี่ยงขององค์กรให้อยู่ในระดับที่ OR สามารถยอมรับได้

             OR ได้ทบทวนนโยบายการบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกับทิศทางและกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ที่มุ่งสู่การดำเนินธุรกิจเพื่อการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนผ่าน SDG ในแบบฉบับของ OR เพื่อตอบโจทย์เป้าหมาย OR 2030 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กระบวนการบริหารความเสี่ยง (Risk Management Process)

             เพื่อการเติบโตร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างยั่งยืน OR มีการพิจารณาถึงปัจจัยที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สำคัญทั้งจากภายนอกและภายในองค์กร (Risk Review) โดยมีการสื่อความแนวโน้มความเสี่ยงประจำปี 2567 ทั้งความเสี่ยงระดับโลก (Global Risk) ระดับประเทศ (Thailand Risk) และความเสี่ยงทางธุรกิจ (Business Area Risk) เพื่อให้ทุกสายงาน ทั้งสายงานธุรกิจและสายงานสนับสนุนคำนึงถึงความเสี่ยงและจัดทำแผนการบริหารความเสี่ยงควบคู่กับการจัดทำแผนกลยุทธ์และแผนธุรกิจของสายงาน ให้มีความสอดคล้องกับทิศทางกลยุทธ์ เป้าหมายขององค์กรและกรอบความเสี่ยงขององค์กร (Corporate Risk Framework) มีการรวบรวมประเด็นความเสี่ยงที่สำคัญจากสายงานธุรกิจและสายงานสนับสนุนเพื่อจัดทำแผนการบริหารความเสี่ยงองค์กรประจำปี 2567 (Corporate Risk Profile) และมีการทบทวนระดับความเสี่ยง (Risk Exposure Review) เป็นประจำทุกปี (Annually) นอกจากนี้ ยังมีการสื่อความแผนการบริหารความเสี่ยงองค์กรประจำปี 2567 ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทแล้วให้ทุกสายงานนำไปบริหารความเสี่ยง เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงสอดคล้องกันทั้งระดับองค์กร ระดับสายงาน และระดับปฏิบัติการ มีการติดตามและรายงานผลการบริหารความเสี่ยงทุกไตรมาสต่อคณะกรรมการจัดการ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร และคณะกรรมการบริษัท ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) และมีการนำระดับความเสี่ยงที่ทนได้ (Risk Tolerance) มาเป็นตัวกำหนดระดับเกณฑ์ในการวัดผล (Threshold) ของดัชนีชี้วัดความเสี่ยง (Key Risk Indicator) เพื่อใช้ในการวัดผลการบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

             OR ได้ดำเนินการตรวจสอบกระบวนการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี (Annually) ทั้งการตรวจสอบภายในและภายนอก โดยคณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานประสิทธิผลและประสิทธิภาพของกระบวนการบริหารความเสี่ยง รวมถึงนโยบายการบริหารความเสี่ยง และได้สอบทานการควบคุมภายใน การปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของ OR และบริษัทในเครือ ร่วมกับหน่วยงานตรวจสอบภายในผ่านการพิจารณาผลการปฏิบัติงานตรวจสอบทุกไตรมาส และงานให้คำปรึกษา รวมถึงได้ให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยงในกระบวนการที่ี่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจแก่ฝ่ายจัดการของ OR และบริษัทในเครือ พร้อมทั้งสอบทานรายงานการประเมินผลการควบคุมภายในและให้ความเห็นต่อรายงานจัดการระบบควบคุมภายในตามหลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งในปี 2567 ผลการประเมินการควบคุมภายในมีความเพียงพอและปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่อง และได้ระบุความเสี่ยงที่มีอยู่พร้อมการปรับปรุงการควบคุมภายในที่จะสามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงดังกล่าวในปี 2568

             สำหรับการตรวจสอบภายนอก (Risk Management Process Audit) OR ดำเนินการตรวจสอบความเสี่ยงระดับปฏิบัติการ (Operational Risk) ผ่านการตรวจสอบโดย Third Party ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการรับรอง ISO 9001 ISO14001 และ ISO45001 เป็นประจำทุกปี

แผนภาพการบริหารความเสี่ยงองค์กรของ OR (OR’s Enterprise Risk Management)

ประเด็นความเสี่ยงองค์กร (Enterprise Risk Issues)

           OR ได้ทำการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทางธุรกิจจากสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2567 ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก โดยความเสี่ยงที่สำคัญในปี 2567 ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สถานการณ์ราคาน้ำมัน สถานการณ์ความเสี่ยงของประเทศที่เข้าไปลงทุน (Country Risk) นโยบายจากภาครัฐ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์ภัยธรรมชาติ สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม คู่แข่ง สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี Cybersecurity การบังคับใช้กฎหมายใหม่ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยได้กำหนดปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต สรุปเป็นปัจจัยความเสี่ยงระดับองค์กร โดยแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้

1. ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk)
2. ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการและธุรกิจ (Operational and Business Risk)
3. ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม บรรษัทภิบาล (ESG Risk)
4. ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Risk)
5. ความเสี่ยงด้านการเงิน (Financial Risk)
6. ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย/กฎระเบียบ (Compliance Risk)

            OR ได้ดำเนินการควบคุมความเสี่ยงและจัดทำมาตรการลดความเสี่ยงเพิ่มเติม จนสามารถลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ นอกจากนี้ ในปี 2567 มีการทบทวนแผนรับมือสภาวะวิกฤติ และฝึกซ้อมการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจในกรณีที่เกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล (Oil Spill) เหตุการณ์ “เรือโดนกัน ท่าเรือเสียหาย และเกิดการรั่วไหลของน้ำมันลงสู่สิ่งแวดล้อม ชุมชนร้องเรียน” ในวันที่ 26 สิงหาคม 2567 เพื่อรองรับการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินจากสถานการณ์ Oil Spill ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ดำเนินการทดสอบการบริหารจัดการเหตุฉุกเฉินและภาวะวิฤตร่วมกับราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามโครงสร้างระบบบัญชาการเหตุการณ์ (ICS) กรณีเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงสู่แม่น้ำ (คลังปิโตรเลียมบางจาก) ความพร้อมของมาตรการและแผนฟื้นคืนกลับของการซ่อมท่าเทียบเรือ รวมถึงการบริหารจัดการประเด็นข้อร้องเรียน และกระแสต่อต้านจากชุมชน

ตัวอย่างความเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงขององค์กร
การจัดลำดับความสำคัญ
ระดับความเสี่ยงที่รับได้
การบรรเทาผลกระทบ
การติดตามและตรวจสอบ
IT Risk
ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และ ภัยคุกคามความปลอดภัยทางไซเบอร์นั้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบในวงกว้าง เช่น การโจมตีของไวรัสคอมพิวเตอร์ ไวรัสเรียกค่าไถ่ (ransomware) การโจรกรรมข้อมูล และการแฮ็กข้อมูล ส่งผลให้ข้อมูลสำคัญของบริษัทฯ และข้อมูลที่เป็นความลับอาจรั่วไหล ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจหยุดชะงัก ส่งผลเสียต่อธุรกิจและภาพลักษณ์ขององค์กร
การรั่วไหลของข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนดหรือการรั่วไหลของข้อมูลที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญเป็นศูนย์

OR ให้ความสำคัญกับการดำเนินการป้องกันและบรรเทาเพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีทางไซเบอร์ โดยใช้แผนงานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อยกระดับความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ได้แก่:

• การใช้ระบบ Firewall และ Security Operation Center (SOC) เพื่อป้องกันการโจมตีและการรั่วไหลของข้อมูล

• จัดหา ติดตั้ง และประยุกต์ใช้ซอฟท์แวร์ Cloud Access Security Brokers (CASB) และ Data Leak Protection (DLP) ติดตั้งในคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมการเข้าถึง การโจมตี และการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล

• ซื้อประกันไซเบอร์

• สร้างความตระหนักรู้ด้าน Cyber Security ให้กับพนักงานและ BSA โดยจัดทำสื่อการเรียนรู้และแบบทดสอบด้าน Cyber Security Awareness

• ทดสอบการเจาะระบบและเพิ่มเติมการทดสอบเจาะระบบให้มีความถี่มากขึ้น และให้ครอบคลุมไปถึงระบบที่ Host อยู่ภายนอก PTT Digital

• การจัดทำแผนรับมือสภาวะวิกฤตและฝึกซ้อมการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจทั้งองค์กรตลอดห่วงโซ่คุณค่า

• ติดตามรายงาน Cyber Security Roadmap ทุกไตรมาส
• ตรวจสอบรายงานการควบคุมการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศทุกไตรมาสผลการทดสอบ Cyber Security Awareness ทุกไตรมาสผลการทดสอบการเจาะระบบทุกไตรมาส
• การตรวจสอบภายในดำเนินการโดย DPO หรือเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นประจำทุกปี
• มีการตรวจสอบภายนอกและออกใบรับรองมาตรฐาน ISO27001 สำหรับ ปตท. ดิจิทัล

ปัจจัยเสี่ยงขององค์กร
การจัดลำดับความสำคัญ
ระดับความเสี่ยงที่รับได้
การบรรเทาผลกระทบ
การติดตามและตรวจสอบ
Financial Risk
ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องทางการเงินหาก OR ไม่มีการบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินที่เหมาะสมอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและภาระต้นทุนทางการเงินขององค์กรอย่างมีนัยสำคัญ

Click

สภาพคล่องทางการเงินต้องอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการชำระหนี้ ภาระผูกพัน และการลงทุน โดยมีอัตราส่วนทางการเงินเป็นไปตามนโยบายการเงินของกลุ่ม ปตท.

• จัดทำประมาณการทางการเงิน เพื่อวางแผนการจัดหาเงินทุนล่วงหน้าและสอดคล้องกับความต้องการใช้เงินและสถานการณ์ของตลาดเงินและ/หรือตลาดทุน

• มีแผนการจัดหาวงเงินกู้ระยะสั้นและ/หรือระยะยาวล่วงหน้า เพื่อสำรองวงเงินทุน

• เตรียมการสำหรับการออกตราสารหนี้เพื่อเสริมสภาพคล่องในระยะยาว (Bond Issuance)

ติดตามการบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องทางการเงินทุกไตรมาส

• ข้อมูลเรื่องการตรวจสอบภายใน สามารถดูได้ที่แบบ 56-1 One Report หน้า 62 (คลิกเพื่ออ่านเพิ่มเติม)

• รายงานของผู้สอบบัญชีอิสระสามารถอ่านได้ที่แบบ 56-1 One Report หน้า 293 (คลิกเพื่ออ่านเพิ่มเติม)

วัฒนธรรมความเสี่ยง (Risk Culture)

          OR มุ่งส่งเสริมวัฒนธรรมการจัดการความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร เพื่อให้มั่นใจว่า OR มีการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับในองค์กรมีการตระหนักถึงความเสี่ยง (Risk Awareness) การเปิดรับความเสี่ยง (Risk-taking) และการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) โดย OR เสริมสร้างวัฒนธรรมด้านความเสี่ยงดังนี้

           OR ผลักดันวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงโดยผู้นำองค์กร (Tone from the top) โดยมีการประกาศนโยบายการบริหารความเสี่ยง ประกาศความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) ส่งเสริมและกำกับดูแลให้มีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสมทั่วถึงทั้งองค์กร

          OR กำหนดความรับผิดชอบต่อความเสี่ยง (Accountability) โดยผู้บริหารและพนักงานตระหนักถึงความเป็นเจ้าของความเสี่ยง (Ownership of Risk) มีการเปิดรับความเสี่ยงอย่างเหมาะสม มีการกำหนดตัวชี้วัดผลสำเร็จของงาน (Key Performance Indicator: KPI) ที่คำนึงถึงความสมดุลระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยง ในมุมมองการลงทุนเพื่อการทำธุรกิจ OR มีการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการวิเคราะห์การลงทุน ให้มีการประเมินความเสี่ยงและจัดเตรียมแผนรองรับ Mitigation Plan เพื่อลดผลกระทบจากการลงทุนอีกด้วย ในการรายงานความเสี่ยง OR มีกระบวนการยกระดับปัญหา (Escalation Process) หากพบความเสี่ยงที่เกินกว่าระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ขององค์กร ทั้งนี้ OR กำหนดช่องทางให้พนักงานสามารถแจ้งเบาะแสหรือรายงานในกรณีพบเหตุการณ์ผิดปกติที่เป็นความเสี่ยงและอาจนำไปสู่ผลกระทบเชิงลบต่อการดำเนินธุรกิจหรือต่อองค์กรได้ทางอีเมล OR-ERMC@pttor.com (Individual employees has responsibility to proactively identify and report potential risks in Risk Management Policy) OR มีการสื่อสารและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้เกิดการถ่วงดุลอย่างมีประสิทธิผล (Effective communication and challenges) สนับสนุนการแสดงความคิดเห็นที่เปิดกว้าง และนำเสนอมุมมองเรื่องความเสี่ยงในทุกขั้นตอนของการทำงานจากทุกหน่วยงาน

        OR มีการสร้างแรงจูงใจ และการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล (Incentives and HR practices) เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรทุกระดับปฏิบัติตนสอดคล้องกับ OR DNA การบริหารความเสี่ยงที่ดี ตลอดจนการปฏิบัติตามนโยบายและกระบวนการของบริษัท ซึ่งสะท้อนในการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี นอกจากนี้ยังได้นำการบริหารจัดการด้านทรัพยากรบุคคลมาช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมด้านความเสี่ยงขององค์กร เช่น การวางแผนการสืบทอดตำแหน่ง (Succession Planning) การจัดอบรมเสริมสร้างความรู้ เป็นต้น OR กำหนดและเน้นย้ำให้พนักงานทุกคนยึดหลักแนวทางการดำเนินงานที่คำนึงถึง Governance, Risk, และ Compliance (GRC) มีการเผยแพร่คู่มือบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กรทางเว็บไซต์ที่พนักงานทุกคนเข้าถึงได้ ตลอดจนมีการจัดการฝึกอบรมระหว่างปี เพื่อให้พนักงานตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน และเป็นการเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจในด้านการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในให้กับผู้บริหารและพนักงานเพื่อนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการกำหนดให้การบริหารความเสี่ยงเป็นหัวข้อหนึ่งของหลักสูตรการอบรมพนักงานใหม่ (OR Orientation) ประจำปี และกำหนดให้พนักงานทุกคนต้องมีการอบรมหลักสูตรการบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน E-learning ทั้งนี้ บุคลากรในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารขึ้นไป OR จัดให้มีการให้ความรู้ด้านการบริหารความเสี่ยงผ่านหลักสูตรอบรม Risk Management Program for Corporate Leader (RCL) ซึ่งจัดโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors: IOD)อย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในบทบาท และความรับผิดชอบในการกำกับดูแลกิจการด้านการบริหารความเสี่ยง
             OR จัดการฝึกอบรมเพื่อให้พนักงานปฏิบัติงานอย่างถูกต้องตามข้อกฎหมาย กฎระเบียบองค์กร (Compliance) เช่น หลักสูตร พรบ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 การปฏิบัติตามข้อกฎหมาย และกฎระเบียบองค์กร ตั้งแต่แรกเข้าปฏิบัติงาน
              นอกจากนี้ OR ได้สนับสนุนให้กรรมการ ผู้บริหารระดับสูง และผู้บริหารที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทในกลุ่ม OR รวมถึงพนักงานที่เกี่ยวข้องเข้าอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับ GRC ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) อาทิ หลักสูตร Advanced Audit Committee Program (AACP) หลักสูตร Risk Management Program for Corporate Leaders (RCL) หลักสูตร Ethical Leadership (ELP) หลักสูตร Anti-Corruption in Practice (ACPG) หลักสูตร Corruption Risk & Control และหลักสูตรการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CG) E-learning

รายละเอียดการฝึกอบรมด้านความเสี่ยงในปี 2567 ที่ผ่านมา(GRI 3-3e.)

หลักสูตร
กลุ่มเป้าหมาย
วันที่ฝึกอบรม
จำนวนผู้เข้าร่วมอบรม
สรุปข้อเสนอแนะจากการฝึกอบรม
Risk Management and Internal Control (Orientation)
พนักงานเข้าใหม่

รุ่นที่ 1: 24 มิ.ย. 67
รุ่นที่ 2: 28 มิ.ย. 67
รุ่นที่ 3: 8 ก.ค. 67
รุ่นที่ 4: 5 ส.ค. 67

166 คน
พนักงานใหม่มีความรู้ความเข้าใจ ในการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำงาน
Project Risk Management
หน่วยงานกลยุทธ์ของทุกสายงานและหน่วยขึ้นตรง
20 พ.ค. 67
55 คน
ผู้เข้าอบรมมีความรู้ความเข้าใจใน การบริหารจัดการความเสี่ยงมากขึ้น
Risk Management and Internal Control (E-Learning)
ผู้บริหารหรือพนักงานที่ไปปฏิบัติงาน Secondment บริษัทในกลุ่ม OR ในฐานะผู้บริหารสูงสุดขององค์กร / CFO / กรรมการบริษัท / Overseas Pool

Risk Management: 1 ส.ค. 67

Internal Control: 6 ก.ย. 67

1,840 คน

1,786 คน

ผู้เข้าอบรมมีความรู้ความเข้าใจใน การบริหารจัดการความเสี่ยงมากขึ้น

                กิจกรรมให้ความรู้/เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงให้กับคณะกรรมการบริษัท: ในปี 2567 OR ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยง ผ่านการทำ Knowledge Sharing ในการประชุมคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (ERMC) อยู่เป็นประจำทุกไตรมาสหรือตามความเหมาะสม เช่น การให้ข้อมูล Global Risk, Business Area Risk, Thailand Risk และ การวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจของ OR ผ่านการ Sharing Risk Moment

ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk)

          OR ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่และเตรียมพร้อมรับมือโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ OR โดยมีมาตรการเตรียมความพร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้านและรอบคอบ ดังนี้

          1. วิกฤตทรัพยากรธรรมชาติและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ : เมล็ดกาแฟ (Natural resource crises and biodiversity loss: Coffee Bean)

ประเภทความเสี่ยง (Category)
ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการและธุรกิจ (Business and Operational Risk)
คำอธิบายความเสี่ยง (Description)
The Global Risks Report 2024 โดย World Economic Forum รายงานว่า ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีเป็นความเสี่ยงที่คาดว่าจะรุนแรงที่สุดและจะครอบคลุมความเสี่ยงทั่วโลกในระยะยาว ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมเกือบทั้งหมดติดอันดับอยู่ใน 10 อันดับแรกในทศวรรษหน้า คาดว่าเหตุการณ์สภาพอากาศเลวร้ายจะรุนแรงยิ่งขึ้น เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศอย่างรุนแรง การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อระบบโลกและการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติก็เป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่จะเลวร้ายอย่างมาก นอกจากนี้ FAO ได้เผยว่า อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นสามารถลดพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกกาแฟได้ถึง 50% ประเทศในแถบ Bean Belt หรือพื้นที่บริเวณเส้นศูนย์สูตรที่สามารถปลูกกาแฟ ลากผ่านทั้ง 5 ทวีปและครอบคลุมหลายประเทศ เช่น เปรู บราซิล เอธิโอเปีย โคลัมเบีย เป็นต้น กำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และอาจจะส่งผลต่อผลผลิตกาแฟในอนาคต ทั้งเรื่องการสูญพันธุ์ของกาแฟบางชนิด รสชาติ กลิ่นรวมถึงคุณภาพของกาแฟที่อาจจะเปลี่ยนไป
ผลกระทบ (Impact)
ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการบริโภคเมล็ดกาแฟมากถึง 80,000 ตันต่อปี แต่ไทยมีกำลังผลิตเมล็ดกาแฟเพียง 20,000 ตันต่อปี โดยคาเฟ่ อเมซอนถือว่าเป็นผู้บริโภคเมล็ดกาแฟรายใหญ่มีความต้องการมากถึง 6,000 ตันต่อปี ธุรกิจคาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon) อาจได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนเมล็ดกาแฟในอนาคต ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน นอกจากนี้ รสชาติ กลิ่นและคุณภาพของกาแฟที่เปลี่ยนแปลงไป อาจส่งผลกระทบต่อความพึงพอใจของผู้บริโภค
มาตรการรองรับความเสี่ยง (Mitigating Action)
OR ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งเสริมการปลูกกาแฟ สร้างโอกาสให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการส่งเสริมและสนับสนุนการขยายพื้นที่ปลูกกาแฟ โดยปรับเปลี่ยนเป็นการเกษตรแบบผสมผสานร่วมกับกาแฟ เพื่อให้เกษตรกรมีผลผลิตและรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตกาแฟให้มีปริมาณผลผลิตและมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลผลิตกาแฟที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้ากาแฟได้มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและปัญหาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือด้านการตลาด โดยคาเฟ่ อเมซอน จะสนับสนุนการรับซื้อผลผลิตกาแฟที่มีคุณภาพตามมาตรฐานจากเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนการปลูกกาแฟ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของ OR ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสและสร้างคุณค่าแก่ผู้คนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังตลอดห่วงโซ่การดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ ในปี 2024 OR ได้พัฒนาโครงการ Amazon Park ในพื้นที่จังหวัดลำปางประมาณ 600 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์การปลูกกาแฟ วิจัย เพาะพันธุ์กาแฟที่ดีที่สุดของประเทศไทย ที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจคาเฟ่ อเมซอน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และสร้างระบบนิเวศธุรกิจ (Ecosystem) ที่ยั่งยืน

          2. วิกฤตการจ้างงาน (Employment crises)

ประเภทความเสี่ยง (Category)
ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการและธุรกิจ (Business and Operational Risk)
ประเภทความเสี่ยง (Category)
World Population Prospects คาดการณ์ว่า จำนวนประชากรบนโลกนี้มีมากถึง 8 พันล้านคน โดยผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี มีอยู่ราว 10 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 16 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2050 ขณะที่รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุในไทยพบว่าประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยคาดการณ์ว่าราวปี 2030 ไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอดเช่นเดียวกับญี่ปุ่น โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากขึ้นถึง 28 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนคนในประเทศ และมีการเพิ่มขึ้นของประชากรเพียง 0.18 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เมื่อโลกเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้นเกือบทุกประเทศล้วนประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
ผลกระทบ (Impact)
OR มีการจ้างแรงงานจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ PTT Station, Café Amazon และธุรกิจค้าปลีกอื่น ๆ เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอดในอนาคต อาจจะส่งผลให้ธุรกิจของ OR ขาดแคลนแรงงาน และมีต้นทุนการจ้างแรงงานที่สูงขึ้น กระทบการดำเนินธุรกิจและกระทบผลการดำเนินงาน
มาตรการรองรับความเสี่ยง (Mitigating Action)
OR ได้พัฒนาโมเดลสถานีบริการน้ำมันแบบบริการตัวเองเต็มรูปแบบ “Fully Self Serve Station” รวมถึงการใช้ระบบ Automation ทั้งในกระบวนการผลิต การจัดเก็บ และกระจายสินค้า เพื่อลดการใช้แรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน นอกจากนี้ Café Amazon ได้ริเริ่มขยายโอกาสในการทำงานสู่กลุ่มผู้สูงวัยซึ่งมีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและมีผู้สูงอายุอีกมากที่ขาดโอกาสในการทำงานเนื่องจากวัยที่มากขึ้น ดังนั้น OR จึงได้มีความร่วมมือกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการจัดตั้ง “ร้าน Café Amazon for Chance ที่ดำเนินการโดยผู้สูงวัย” โดยนำร่องด้วยการจ้างงานผู้สูงอายุระหว่างอายุ 60-65 ปี ที่สามารถทำงานในร้านกาแฟได้ โดยจะมีการออกแบบร้านให้เหมาะสมกับการทำงานของผู้สูงอายุ เช่น มีการคัดเลือกเมนูเครื่องดื่มเฉพาะเมนูขายดี มีการใช้เครื่องชงอัตโนมัติเพื่อรสชาติที่เป็นมาตรฐานของคาเฟ่ อเมซอน การกำหนดความสูงของชั้นวางวัตถุดิบที่เหมาะสม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ฉุกเฉิน โดยผ่านการอบรมโดยทีมพัฒนามาตรฐานและอบรมคาเฟ่อเมซอนเช่นเดียวกับพนักงานของคาเฟ่อเมซอนทั่วไป ซึ่งโมเดลดังกล่าวจะสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและสร้างโอกาสให้ผู้สูงอายุในประเทศไทย

          3. ความเสี่ยงจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Generated AI)

ประเภทความเสี่ยง (Category)
ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Risk)
คำอธิบายความเสี่ยง (Description)
The Global Risks Report 2024 โดย World Economic Forum รายงานว่า ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Generative AI: Gen AI) จะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วง 2 ปี ถึง 10 ปีนี้ โดยผสานเข้ากับทุกแง่มุมของสังคม ทั้งการกระจายข้อมูลเท็จ ภัยคุกคามความเป็นส่วนตัว ภัยคุมคามทางไซเบอร์ การละเมิดลิขสิทธิ์ อคติในปัญญาประดิษฐ์ การก่ออาชญากรรม การทดแทนแรงงาน หรือแม้กระทั่งใช้ AI เป็นอาวุธทางการทหาร Harvard Business Review (HBR) รายงานว่า การนำ Gen AI มาใช้ในองค์กรมีแนวโน้มมากขึ้น และจาก Stanford AI Index พบว่าอัตราการนำ AI มาใช้งานมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก องค์กรระดับโลก เช่น Microsoft และ Salesforce มีการนำ AI เข้ามาใช้ในสินค้าและการบริการ ขณะที่บางองค์กร เช่น Apple และ Samsung ไม่สนับสนุนการนำ AI เข้ามาใช้ในการปฏิบัติงานเนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น สำหรับประเทศไทยการนำ Gen AI มาใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานเป็นความท้าทายขององค์กร สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) รายงานว่า ต้องมีการสร้างสมดุลการใช้งานที่ยั่งยืนอย่างมีธรรมาภิบาล การนำ Gen AI เช่น Chat GPT และ Gemini มาใช้ในการปฏิบัติงานมากขึ้นมาพร้อมกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น โดยความเสี่ยงหลัก ได้แก่ ความผิดพลาดของข้อมูลที่ผ่านการประมวลผลจาก Gen AI อาจทำให้การนำข้อมูลไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ และไม่มีประสิทธิภาพ, ข้อมูลที่ได้จากการประมวลผลของ Gen AI อาจมีความอคติจากข้อมูลที่ใช้ในการฝึกฝนของ Gen AI อาจมีอคติแอบแฝงหรือมีภาพจำที่ยังเป็นภาพเหมารวม (Stereotype) ทำให้ผลลัพธ์มีความเอียงเอนไม่เป็นกลาง, ปัญหาด้านลิขสิทธิ์จากการใช้ Gen AI ในการสร้างภาพ หรือข้อความอาจมีประเด็นเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์, การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว และการนำความลับขององค์กรมาเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงการเผยแพร่ข่าวเท็จหรือหลอกลวงบนโลกออนไลน์ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อองค์กรเป็นอย่างมาก
ผลกระทบ (Impact)
OR ได้ปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่การเป็น Digital Driven Organization จึงมีนำ Gen AI มาประยุกต์ใช้ในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มประสิทธิผลภายในองค์กรและการให้บริการลูกค้า เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ซึ่งมาพร้อมกับความท้าทายและความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ความปลอดภัย ความโปร่งใส และความรับผิดชอบ อาจเกิดความเสียหายต่อองค์กรทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจและภาพลักษณ์องค์กร
มาตรการรองรับความเสี่ยง (Mitigating Action)
OR ตระหนักถึงอันตรายของภัยดังกล่าว เล็งเห็นความสำคัญของการดำเนินการเชิงป้องกันและลดผลกระทบเพื่อควบคุมความเสี่ยง จึงมีกระบวนการกำกับดูแล AI/ML Governance เพื่อให้มั่นใจว่าการนำ AI/ML มาใช้ในองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเป็นไปตามหลักจริยธรรม มีการจัดทำกรอบการกำกับดูแล (Governance Framework) ที่ดี กำหนดบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน ทั้งในส่วนของการใช้งาน และด้านข้อมูลองค์กร รวมถึงมีการติดตาม ประเมินผล และปรับปรุงการใช้งานการประยุกต์ใช้ AI/ML มีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน AI/ML สอดคล้องกับการบริหารความเสี่ยงขององค์กรซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการบรรลุวัตุประสงค์ของการใช้งาน AI/ML มีมาตรการควบคุมความเสี่ยงและติดตามความเสี่ยงอย่างเหมาะสม มีการจัดทำนโยบายและมาตรการควบคุมที่เหมาะสมกับความเสี่ยง โดยคำนึงถึงองค์ประกอบหลักของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวทางเทคโนโลยีสารสนเทศ 3 ประการ ได้แก่ การรักษาความลับ การรักษาความถูกต้อง และการรักษาสภาพความพร้อมใช้งาน จัดให้มีบุคลากรที่รับผิดชอบในการพัฒนา ทดสอบ นำไปใช้งาน และควบคุมดูแลการทำงานของ AI/ML อย่างเพียงพอและเหมาะสมกับการใช้งานขององค์กร รวมถึงส่งเสริมการประยุกต์ใช้ Gen AI อย่างมีจริยธรรม โดยพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้เท่าทัน สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นด้านจริยธรรม และแนวปฏิบัติที่ดีในการประยุกต์ใช้ Gen AI พร้อมทั้งมีมาตรการตรวจสอบการปฏิบัติตามที่แนวทางองค์กรกำหนด นอกจากนี้ OR ได้มีมาตรการป้องกันอย่างจริงจังเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยมีการใช้ระบบ Firewall และใช้บริการ Security Operation Center (SOC) เพื่อป้องกันการถูกโจมตีและการรั่วไหลของข้อมูล มีการจัดหา ติดตั้ง และใช้งานระบบ Cloud Access Security Brokers (CASB), Data Leak Protection (DLP) และมีการ Install Software ลงในคอมพิวเตอร์บริษัทเพื่อควบคุมการเข้าถึงข้อมูล ป้องกันการถูกโจมตีและการรั่วไหลของข้อมูล มีการตรวจสอบระบบและประเมินหาความเสี่ยงที่เกิดจากช่องโหว่ของระบบสารสนเทศอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งให้ความรู้แก่พนักงานในการปกป้องข้อมูลไม่ให้รั่วไหลออกภายนอกองค์กร นอกจากนี้ OR ยังได้ดำเนินการซื้อประกันภัยทางด้านไซเบอร์ และเตรียมระบบ BCM รองรับในกรณีที่เกิดภัยคุกคามขึ้นกับระบบสารสนเทศของ OR

          4. ความเสี่ยงจากการบิดเบือนข้อมูล (Misinformation and Disinformation)

ประเภทความเสี่ยง (Category)
ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Risk)
คำอธิบายความเสี่ยง (Description)
The Global Risks Report 2024 โดย World Economic Forum รายงานว่า การเผยแพร่ข้อมูลเท็จและการบิดเบือนข้อมูลเป็นความเสี่ยงที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ รวมถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศ ความเสี่ยงที่เกิดจากข้อมูลที่ผิดพลาดและการบิดเบือนข้อมูลทวีความรุนแรงขึ้นจากการนำปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ (Generative AI) มาใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่า “Synthetic Content” ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่วิดีโอปลอมที่เรียกว่า Deepfake การเลียนแบบเสียง ไปจนถึงการสร้างเว็บไซต์ปลอม ประกอบกับความแพร่หลายของสังคมออนไลน์ การสื่อสารผ่านแพตฟอร์มออนไลน์เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีศักยภาพสูงสุด สังคมมีแนวโน้มที่จะเชื่อข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านสังคมออนไลน์ และมีการส่งต่อข้อมูลเท็จอย่างแพร่หลายยากต่อการควบคุม การบิดเบือนข้อมูลอาจถูกนำมาใช้เพื่อเป้าหมายที่หลากหลาย ตั้งแต่การเคลื่อนไหวทางสังคมเล็กน้อย เช่น การเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจนยกระดับไปถึงการสร้างความขัดแย้ง อีกทั้งอาชญากรรมรูปแบบใหม่อาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น การปั่นหุ้น (Stock Manipulation) หรือการสร้างสื่ออนาจารแบบ Deepfake นอกจากนี้ การบิดเบือนข้อมูลยังมีแนวโน้มที่จะถูกปรับให้เหมาะสมกับผู้รับแต่ละกลุ่มมากขึ้น และถูกมุ่งเป้าไปยังกลุ่มเฉพาะ เช่น ชุมชนชนกลุ่มน้อย อีกทั้งยังเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มส่งข้อความที่ตรวจสอบได้ยาก เช่น WhatsApp หรือ WeChat
ผลกระทบ (Impact)
OR ได้รับผลกระทบจากการเผยแพร่ข่าวเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ และมีการแพร่กระจายข่าวเท็จอย่างแพร่หลาย ซึ่งเป็นการบิดเบือนความเข้าใจและการรับรู้ของผู้บริโภค สังคม และชุมชน เกิดความเสียหายต่อองค์กรทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจและภาพลักษณ์องค์กร
มาตรการรองรับความเสี่ยง (Mitigating Action)
OR ตระหนักถึงผลกระทบของการบิดเบือนข้อมูลและแพร่ข่าวเท็จ จึงมีการติดตามการเผยแพร่ข้อมูลเท็จบนสื่อสังคมออนไลน์อย่างใกล้ชิด มีการสื่อสารต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างมีประสิทธิภาพ มีการจัดทำกระบวนการบริหารประเด็นที่อาจเกิดขึ้นและคาดการณ์ประเด็นเชิงลบเพื่อจัดทำแผนและกระบวนการรับมือ มีการสื่อสารเชิงรุกควบคู่ไปกับการวางแผนการบริหารประเด็นเชิงลบและการสื่อสารในภาวะวิกฤต รวมถึงบริหารจัดการประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรภายในระยะเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้ ได้มีการจัดทำวิจัย Brand Health Check เพื่อนำผลลัพธ์มาวิเคราะห์ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม เพื่อพัฒนาการสื่อประชาสัมพันธ์ขององค์กรให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้ง มีการสื่อสารเชิงรุกให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแบบจับต้องได้ เข้าใจง่าย มีการสร้าง Brand Love ให้เกิดการปกป้องแบรนด์ เมื่อเกิดการโจมตีจากการแพร่ข่าวเท็จที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงขององค์กร

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

Document Name
File (Attach or Link)
1. การบริหารความเสี่ยง
Click to see/Download
2. นโยบายการบริหารความเสี่ยง (หัวข้อ นโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยง)
Click to see/Download