นโยบายบริษัท

นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี

       คณะกรรมการ OR มีเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมให้ OR เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ การกำกับดูแลกิจการ และการบริหารจัดการที่ดีเลิศ โดยมุ่งเน้นการสร้างประโยชน์ที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้น และคำนึงถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยรวม มีคุณธรรมในการดำเนินธุรกิจ มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ จึงได้กำหนดเป็นนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงาน ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ดังนี้

  1. คณะกรรมการ OR ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนมุ่งมั่นที่จะนำเอาหลักสำคัญในการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัททั้ง 6 ประการ คือ Accountability, Responsibility, Equitable Treatment, Transparency, Vision to Create Long-term Value และ Ethics มาใช้ในการดำเนินงาน มีโครงสร้างการบริหารที่มีความสัมพันธ์กันระหว่างคณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นอย่างเป็นธรรม
  2. คณะกรรมการ OR จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความทุ่มเทและรับผิดชอบ มีความเป็นอิสระ และมีการจัดแบ่งบทบาทหน้าที่ระหว่างประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารออกจากกันอย่างชัดเจน
  3. คณะกรรมการ OR มีบทบาทสำคัญในการกำหนดวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ นโยบาย และแผนงานที่สำคัญของบริษัทโดยจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงและวางแนวทางการบริหารจัดการที่มีความเหมาะสม รวมทั้งต้องดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าระบบบัญชี รายงานทางการเงิน และการสอบบัญชีมีความน่าเชื่อถือ
  4. คณะกรรมการ OR จะต้องเป็นผู้นำในเรื่องจริยธรรม เป็นตัวอย่างในการปฏิบัติงานตามแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท และสอดส่องดูแลเรื่องการจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และรายการที่เกี่ยวโยงกัน
  5. คณะกรรมการ OR อาจแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะเรื่องขึ้นตามความเหมาะสม เพื่อช่วยพิจารณากลั่นกรองงานที่มีความสำคัญอย่างรอบคอบ
  6. คณะกรรมการ OR ต้องจัดให้มีการประเมินผลตนเองรายปี เพื่อใช้เป็นกรอบในการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท
  7. คณะกรรมการ OR เป็นผู้พิจารณากำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม และจรรยาบรรณของบริษัทเพื่อให้คณะกรรมการ OR ผู้บริหาร พนักงาน รวมถึงลูกจ้างทุกคนใช้เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ ควบคู่ไปกับข้อบังคับและระเบียบของบริษัท
  8. คณะกรรมการ OR ต้องจัดให้มีการเปิดเผยสารสนเทศของบริษัท ทั้งในเรื่องทางการเงินและที่ไม่ใช่เรื่องทางการเงินอย่างเพียงพอ เชื่อถือได้ และทันเวลา เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียของ OR ได้รับสารสนเทศอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งจัดให้มีหน่วยงานประชาสัมพันธ์และหน่วยงานนักลงทุนสัมพันธ์ เพื่อรับผิดชอบการให้ข้อมูลแก่นักลงทุนและประชาชนทั่วไป
  9. คณะกรรมการ OR ต้องปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน โดยให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศ และมีช่องทางที่เหมาะสมในการสื่อสารกับ OR
  10. คณะกรรมการ OR ต้องจัดให้มีระบบการคัดสรรบุคลากรที่จะเข้ามารับผิดชอบในตำแหน่งบริหารที่สำคัญทุกระดับอย่างเหมาะสม และมีกระบวนการสรรหาที่โปร่งใส เป็นธรรม
  11. คณะกรรมการ OR ต้องจัดให้มีนโยบายและระบบที่สนับสนุนการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าฝ่ายบริหารได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน

นโยบายการกำกับการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบบริษัท

    เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของ OR ดำเนินไปด้วยความราบรื่น ด้วยความโปร่งใส ความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจ และถูกต้องตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง ประกาศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาธุรกิจและองค์กรอย่างยั่งยืน จึงกำหนดนโยบายด้านการกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบองค์กร ดังนี้

  1. มุ่งมั่นในการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยผู้บริหารทุกคนต้องเป็นผู้นำ (Lead & Execute) และสนับสนุน (Support) การกำกับการปฏิบัติตามกฎหมาย สอดส่องดูแล (Monitor) ให้กระบวนการทำงานสอดคล้องกับกฎหมาย และควบคุม (Control) หรือป้องกัน (Prevent) ความเสี่ยงในการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเหมาะสม รวมทั้งปรับปรุง (Improve) ประสิทธิภาพของการกำกับการปฏิบัติตามกฎหมาย
  2. ยึดหลักและให้การสนับสนุนการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและการต่อต้านการผูกขาดทางการค้า โดยปฏิบัติตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้า และกฎหมายการป้องกันการผูกขาด รวมถึงกฎหมาย กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ และระเบียบต่าง ๆ ของประเทศที่ OR มีการดำเนินธุรกิจ ทั้งตามกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ
  3. สนับสนุนการป้องกันและการต่อต้านการทุจริต การให้หรือรับสินบน โดยถือว่าการให้หรือรับสินบน (Bribery) กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาคเอกชน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ใด ๆ ต่อการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องและฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และไม่เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทฯ
  4. ให้ความเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยให้ความสำคัญกับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึง สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรอง หรือคุ้มครอง ภายใต้กฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ
  5. มีหน้าที่ในการปกป้อง คุ้มครอง และรักษาสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่ OR มีสิทธิหรือเป็นเจ้าของให้ปลอดภัยจากการถูกละเมิดหรือถูกนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งจะต้องเคารพและไม่ล่วงละเมิดต่อสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้บริหารและพนักงานมีการคิดสร้างสรรค์ผลงานทางทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ และเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
  6. ให้การสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่กระบวนการก่อการร้าย โดยต้องปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง มุ่งมั่นที่จะป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือและให้ความสำคัญกับการสอดส่องดูแลและให้เบาะแสแก่เจ้าหน้าที่ รวมทั้งสนับสนุนการใช้มาตรการทางเงินที่ถูกต้อง เหมาะสม เป็นไปตามที่กฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศกำหนด
  7. มุ่งมั่นในการจัดการทรัพย์สิน การรักษาความลับ การใช้ข้อมูลของบริษัท และการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า คู่ค้าและพนักงาน อย่างถูกต้อง ด้วยมาตรฐานการบริหารจัดการที่ดีและถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด
  8. ยึดถือหลักในการปฏิบัติตามนโยบายและหลักกำกับดูแลกิจการที่ดี นอกเหนือจากการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ใช้บังคับในประเทศที่ OR ดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว บริษัทฯ จะต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่บังคับใช้ให้ครบถ้วนด้วย
  9. มุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามนโยบายต่าง ๆ ให้สอดคล้องเป็นไปตามกรอบนโยบาย ทิศทาง กลยุทธ์ทางธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ เช่น นโยบายการบริหารจัดการตามวิถีแห่ง ปตท. (PTT Way) รวมถึงนโยบายสำคัญอื่น ๆ ตามที่กำหนด

นโยบายการบริหารความเสี่ยง

     วัตถุประสงค์การบริหารความเสี่ยง เพื่อให้องค์กรมีกระบวนการหรือระบบในการค้นหา ประเมิน และจัดการกับความเสี่ยงหรือเหตุการณ์ ที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดและส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในภาพรวมขององค์กร ทำให้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ โดยการส่งเสริมให้พนักงานทุกคนมีความรู้และความเข้าใจถึงแนวทางปฏิบัติในการบริหารความเสี่ยง และให้มีการนำขั้นตอนการบริหารความเสี่ยงไปปฏิบัติทั่วทั้งองค์กร เพื่อบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ลดโอกาสและความรุนแรงของความเสี่ยง

 

     The Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission (COSO) คณะกรรมการที่เกิดจากการร่วมมือกันขององค์กรเอกชน 5 แห่ง ซึ่งเป็นผู้นำด้านความคิดในการพัฒนากรอบแนวคิดและแนวปฏิบัติสาหรับการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในอีกว่า องค์กรที่จัดทำระบบบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในได้อย่างมีประสิทธิผลจะช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ใน 4 ด้าน คือ

  1. วัตถุประสงค์ด้านกลยุทธ์ (Strategic) กล่าวคือ การบริหารความเสี่ยงจะช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ ซึ่งสอดคล้องและสนับสนุนพันธกิจหลักขององค์กร
  2. วัตถุประสงค์ด้านการปฏิบัติงาน (Operations) การบริหารความเสี่ยงจะช่วยให้องค์กร พิจารณาความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ในการปฏิบัติงาน รวมถึงพิจารณาประสิทธิภาพและ ประสิทธิผลของการดำเนินงานด้วย
  3. วัตถุประสงค์ด้านการรายงาน (Reporting) การบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิผลจะช่วยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มมีความเชื่อมั่นข้อมูลในรายงานประเภทต่าง ๆ ขององค์กร โดยเฉพาะรายงานทางการเงิน (Financial Report)
  4. วัตถุประสงค์ด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Compliance) โดยเฉพาะการจัดทำระบบ ควบคุมภายในเพื่อลดความเสี่ยง ส่วนการจัดการความเสี่ยงด้วยวิธีอื่น ๆ องค์กรก็สามารถใช้กฎระเบียบต่าง ๆ เป็นเครื่องมือได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น การบริหารความเสี่ยงจึงส่งเสริมให้หน่วยงานต่าง ๆ ภายในองค์กร ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดมากยิ่งขึ้น

     กรอบการบริหารความเสี่ยง องค์กรมีการกำหนดกรอบการบริหารความเสี่ยงที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของ The Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission (COSO) ERM 2017 โดยนำหลักการและองค์ประกอบต่าง ๆ ไปใช้ในการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร สำหรับความเสี่ยงในระดับองค์กรจะมีการบริหารจัดการผ่านคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร ตามขอบเขตและหน้าที่รับผิดชอบอย่างเป็นระบบ ความเสี่ยงในระดับหน่วยธุรกิจและระดับสายปฏิบัติงานจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้บริหารที่รับผิดชอบ โดยถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบของทุกหน่วยงานในการบริหารจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้

     การบริหารความเสี่ยงทั่วองค์กร (Enterprise Risk Management) เป็นกระบวนการที่คณะกรรมการ ผู้บริหาร และบุคลากร ร่วมในการคิด วิเคราะห์ และคาดการณ์ถึงเหตุการณ์ หรือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งการระบุแนวทางในการจัดการกับความเสี่ยงดังกล่าว ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือยอมรับได้ เพื่อช่วยให้องค์กรบรรลุในวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ตามกรอบวิสัยทัศน์ และพันธกิจขององค์กร การนำกระบวนการบริหารความเสี่ยงมาปฏิบัติใช้จริงจะช่วยเป็นหลักประกันในระดับหนึ่งได้ว่าการดำเนินการต่าง ๆ ขององค์กร หน่วยธุรกิจ และหน่วยปฏิบัติงาน จะสามารถบรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

     นโยบายการบริหารความเสี่ยง องค์กรตระหนักถึงความสำคัญในการบริหารความเสี่ยง โดยถือว่าเป็นองค์ประกอบหลักของทุกกระบวนการในการดำเนินธุรกิจ จึงได้มีการกำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กรที่พนักงานทุกคนต้องปฏิบัติตาม เพื่อบรรลุตามวัตถุประสงค์ขององค์กร โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. บริษัทฯ กำหนดกรอบการบริหารความเสี่ยงและกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและเชื่อมโยงกันทุกระดับทั้งในระดับองค์กร สายงาน หน่วยปฏิบัติงาน และบริษัทในเครือ รวมทั้งมุ่งเน้นให้มีการพัฒนาประสิทธิผลของการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ นโยบายและกรอบการบริหารความเสี่ยงจะต้องมีการทบทวนเป็นระยะ ๆ หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
  2. การบริหารความเสี่ยงเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของทุกกระบวนการในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ โดยถือเป็นหน้าที่ของทุกหน่วยงานในการดำเนินงานตามกิจกรรมควบคุมที่เพียงพอ เหมาะสมและบริหารจัดการให้ความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด รักษาผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดขององค์กร และแสวงหาโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่ม
  3. บริษัทฯ มุ่งเน้นให้มีการจัดสรรทรัพยากรและให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสม รวมถึงการปลูกฝังจิตสำนึกด้านความเสี่ยงให้แก่พนักงานและส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมในการบริหารความเสี่ยงเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิผล
  4. ทุกสายงาน ทุกหน่วยงาน ผู้บริหารและพนักงานทุกคนมีหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบายการบริหารความเสี่ยง กรอบการบริหารความเสี่ยง และกระบวนการบริหารความเสี่ยงตามที่บริษัทฯ กำหนด รวมทั้งรายงานผลการบริหารความเสี่ยง และทบทวนปรับปรุงประสิทธิผลของการบริหารความเสี่ยง

สามารถดาวน์โหลดเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ ดังนี้
• คู่มือการบริหารความเสี่ยง
• กฎบัตรคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร

นโยบายการบริหารความต่อเนื่องธุรกิจ

      เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนมั่นใจได้ว่า OR มีการเตรียมความพร้อมในการจัดการภาวะวิกฤตและการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ เพื่อการตอบสนองและบรรเทาผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก ชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และกิจกรรมที่มีความสำคัญขององค์กรอย่างมีประสิทธิผล จึงกำหนดนโยบายการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management : BCM) ดังนี้

  1. พัฒนาระบบ BCM ตามมาตรฐานการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกัน โดยมีการวางแผนการนำไปปฏิบัติ การฝึกซ้อม และปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างวัฒนธรรมองค์กร ควบคู่ไปกับการติดต่อสื่อสารทั้งภายในและภายนอก อย่างมีประสิทธิผล
  2. ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ประสานความเชื่อมโยงกันของแต่ละขอบข่าย ในการจัดทำแผนป้องกัน/ระงับเหตุฉุกเฉิน แผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ และโครงสร้างศูนย์อำนวยการเหตุฉุกเฉิน และภาวะวิกฤต
  3. รายงานผลการดำเนินงานตามระบบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจและแผนงานต่อที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเป็นระยะ ๆ  หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ
  4. ผู้บริหารมีหน้าที่ผลักดันและสนับสนุนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ  ตามกระบวนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ รวมทั้งเสริมสร้าง และพัฒนาความรู้ ความสามารถ ของบุคลากรเพื่อให้มั่นใจว่าบุคลากรสามารถปฏิบัติตนได้อย่างมีประสิทธิผล
  5. บุคลากร OR ต้องตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการดำเนินการ สนับสนุนและปฏิบัติตามนโยบายการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจที่จะทำให้องค์กรบรรลุตามวัตถุประสงค์

นโยบายการควบคุมภายใน

      เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนว่าการดำเนินงานของ OR จะบรรลุวัตถุประสงค์ด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการปฏิบัติงาน ความเชื่อถือได้ของรายงานทางการเงิน และรายงานการดำเนินงาน การปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นองค์กรที่การกำกับดูแลกิจการที่ดี OR จึงกำหนดนโยบายการควบคุมภายใน ดังนี้

  1. พัฒนาระบบการควบคุมภายในตามมาตรฐานสากลและปลูกฝังเป็นวัฒนธรรมองค์กรควบคู่กับการสื่อสารให้พนักงานทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการควบคุมภายใน
  2. คณะกรรมการมีหน้าที่กำกับดูแลการพัฒนาระบบการควบคุมภายในในภาพรวม และกำกับให้มีการติดตามประเมินผลการควบคุมภายใน
  3. ผู้บริหารมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดและจัดให้มีระบบการควบคุมภายในที่มีประสิทธิผล ริเริ่มและสร้างบรรยากาศ เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมของการควบคุม ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องความซื่อสัตย์ ความมีคุณธรรมและจริยธรรม รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ
  4. ผู้บริหารของหน่วยงานมีหน้าที่ในการประเมินความเสี่ยงในระดับปฏิบัติการและกำหนดกิจกรรมควบคุมที่เพียงพอ เหมาะสม ตลอดจนนำการควบคุมภายในไปปฏิบัติและปรับปรุง รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบ
  5. ฝ่ายตรวจสอบภายในเป็นผู้สอบทานหรือประเมินผลการควบคุมภายในขององค์กรอย่างเป็นอิสระ เพื่อให้ความมั่นใจว่าหน่วยรับตรวจมีการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้
  6. พนักงานทุกคนมีหน้าที่ในการปฏิบัติงานตามระบบการควบคุมภายใน รวมถึงรายงานปัญหาจากการปฏิบัติงานให้ผู้บังคับบัญชารับทราบ เพื่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

นโยบายการร้องเรียน

       OR คาดหมายว่า บุคลากรของ OR จะร่วมกันสอดส่องดูแลการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี มาตรฐานทางจริยธรรม และจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของ OR โดยสนับสนุนให้มีการสอบถามกรณีมีข้อสงสัยหรือข้องใจเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรม และจรรยาบรรณธุรกิจของ OR รวมทั้งเปิดโอกาสให้บุคลากรทุกคนร้องเรียนเมื่อพบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือขัดต่อมาตรฐานทางจริยธรรม และจรรยาบรรณธุรกิจของ OR หรือสอบถามได้ที่

  • ผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบภายใน หรือ
  • ผู้จัดการฝ่ายธรรมาภิบาลองค์กร หรือ
  • รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านศักยภาพองค์กร หรือ
  • ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ
  • ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ
  • ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ หรือ
  • ประธานกรรมการบริษัท

     OR ให้คำมั่นสัญญาว่าจะรับฟังทุกข้อร้องเรียนอย่างเสมอภาค โปร่งใส และเอาใจใส่ รวมทั้งให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย กำหนดระยะเวลาสอบสวนอย่างเหมาะสม ชื่อของผู้ร้องเรียนจะถูกปิดเป็นความลับ ผู้ร้องเรียนจะได้รับความคุ้มครอง ไม่ให้ถูกกลั่นแกล้ง ทั้งในระหว่างการสอบสวน และภายหลังการสอบสวน

ข้อกำหนดบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ว่าด้วย การร้องเรียน การแจ้งเบาะแสการทุจริต และการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบองค์กร

นโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน

สามารถดาวโหลดรายละเอียดเอกสารนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันได้ ดังนี้

แนวทางการบริหารจัดการแบบกลุ่ม OR Group Way of Conduct

สามารถดาวโหลดรายละเอียดเอกสารแนวทางการบริหารจัดการแบบกลุ่ม OR Group Way of Conduct ได้ ดังนี้

แจ้งเบาะแสการทุจริต

สามารถแจ้งเบาะแสที่นี่ คลิก

งานโฆษณาและประชาสัมพันธ์เพื่อสื่อมวลชน

งานโฆษณาและประชาสัมพันธ์เพื่อสื่อมวลชน ประจำปี 2563

งานโฆษณาและประชาสัมพันธ์เพื่อสื่อมวลชน ประจำปี 2564

งานโฆษณาและประชาสัมพันธ์เพื่อสื่อมวลชน ประจำปี 2565

งานโฆษณาและประชาสัมพันธ์เพื่อสื่อมวลชน ประจำปี 2566

นโยบายคุณภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (QSHE)

          บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) มุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และสร้างโอกาสในการเติบโตร่วมกัน (Inclusive Growth) ให้กับสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมายขององค์กร โดยมุ่งเน้นและให้ความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กรผ่านการดำเนินงานด้านคุณภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (QSHE) รวมถึงมีการกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และจัดลำดับความสำคัญในการวางแผน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และสามารถจัดการความเสี่ยงในด้าน QSHE โดยกำหนดให้ทุกหน่วยงานรับผิดชอบในการปฏิบัติให้สอดคล้องตามนโยบาย และผลักดันให้บรรลุตามเป้าหมาย ดังนี้


1. การส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรด้าน QSHE

1.1 ผู้บริหารทุกระดับต้องเป็นต้นแบบ (Role Model) ในการส่งเสริมและสร้างวัฒนธรรมด้าน QSHE การสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้สอดคล้องกับกรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืน

1.2 ผู้บริหารทุกระดับต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้พนักงานเกิดความตระหนักต่อระบบบริหารจัดการด้าน QSHE โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานบนพื้นฐานการบริหารจัดการความเสี่ยง การเพิ่มโอกาสในการปรับปรุง และลดผลกระทบเชิงลบด้าน QSHE


2. การนำระบบการบริหารจัดการมาประยุกต์ใช้ในองค์กร

2.1 บูรณาการระบบการบริหารจัดการด้าน QSHE และนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ในทุก ๆ กิจกรรมภายใต้การควบคุมดูแลของ OR และทำการทบทวนตามช่วงเวลาอย่างสม่ำเสมอหรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงบริบทองค์กรหรือธุรกิจที่มีนัยสำคัญ รวมถึงให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมและหารือร่วมกับพนักงานและ/หรือ ตัวแทนพนักงาน ในการนำระบบการบริหารจัดการ QSHE มาประยุกต์ใช้ในองค์กร 

2.2 กำหนดให้การบริหารความเสี่ยงเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญของทุกกระบวนการในการดำเนินธุรกิจและปฏิบัติการ โดยดำเนินการควบคุมและบริหารจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้อย่างสมเหตุสมผล


3. การดำเนินงานให้สอดคล้องตามกฎหมายและมาตรฐาน
3.1 ปฏิบัติตามและติดตามการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้าน QSHE ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นที่สถานประกอบการตั้งอยู่ รวมถึงข้อกำหนดและมาตรฐานของบริษัท โดยถือเป็นบรรทัดฐานขั้นต้น    

3.2 ประยุกต์ใช้มาตรฐานและพันธสัญญาสากลที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสม

3.3 ทำให้มั่นใจได้ว่ามีการปฏิบัติที่สอดคล้องกับกฎหมาย มาตรฐานและพันธสัญญาสากลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ


4. การดำเนินงานด้านคุณภาพ
4.1 ควบคุมกระบวนการออกแบบ การดำเนินธุรกิจ ผลิต และส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการให้ได้มาตรฐาน มีการพัฒนาทั้งในระดับกลุ่มและระดับบุคคลอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย ทิศทางการดำเนินงาน และกลยุทธ์ขององค์กร โดยส่งเสริมการคิดเชิงสร้างสรรค์ การแบ่งปันความรู้ และการถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านการบริหารจัดการองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ อันจะส่งผลให้เกิดการเพิ่มผลผลิต นวัตกรรม และธุรกิจใหม่ นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
4.2 ส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพเป็นไปตามข้อกำหนดของลูกค้าและสอดคล้องตามกฎหมาย รวมถึงป้องกันการเกิดข้อบกพร่องในผลิตภัณฑ์และบริการที่อาจส่งผลกระทบต่อลูกค้า ชื่อเสียง และภาพลักษณ์องค์กร

5. การดำเนินงานด้านความมั่นคง ความปลอดภัย และอาชีวอนามัย 
5.1 ปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน ข้อมูล และชื่อเสียง โดยตระหนักถึงภัยคุกคามด้านความมั่นคงปลอดภัยและระดับความเสี่ยง และกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันที่เหมาะสมเป็นไปตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
5.2 ควบคุมและป้องกันความสูญเสียตามความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากอุบัติการณ์ เหตุฉุกเฉิน และภาวะวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นกับพนักงาน ผู้รับเหมา และผู้มีส่วนได้เสีย 
5.3 ป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน จัดการสภาพแวดล้อมการทำงานเพื่อปรับปรุงและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสมและปลอดภัย รวมถึงควบคุมและป้องกันการเจ็บป่วยจากการทำงานในสถานที่ปฏิบัติงาน
 
6. การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม 
6.1 ควบคุม ป้องกัน และลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินการตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) มุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ มุ่งเน้นการป้องกันมลพิษที่แหล่งกำเนิด ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) บริหารจัดการของเสียอย่างเป็นระบบ ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน บรรเทาและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)
6.2 พัฒนา จัดหา ผลิต และส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิต โดยมั่นใจว่าลูกค้าสามารถเข้าถึงและเข้าใจการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

นโยบายฯ ฉบับนี้ ประยุกต์ใช้กับทุกกิจกรรมของบริษัท (รวมถึงการกระจายสินค้า และการจัดส่ง) พนักงาน ผู้รับเหมา ผู้รับจ้าง คู่ค้า ผู้แทนจำหน่าย ผู้รับอนุญาต รวมถึงบุคคลที่อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท โดยผู้บริหารทุกระดับต้องเป็นแบบอย่างที่ดี สนับสนุนทรัพยากรและกำหนดบทบาทหน้าที่ให้เพียงพอตามความจำเป็นต่อการดำเนินงาน รวมทั้งติดตาม วิเคราะห์ ประเมินผลผ่านการทบทวนของฝ่ายบริหาร และรับผิดชอบให้ผลการดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกับเจตนารมณ์ขององค์กร รวมถึงส่งเสริมให้มีการพัฒนาปรับปรุงผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง พนักงาน และผู้รับเหมาทุกคนต้องรับทราบ เข้าใจ และฝึกอบรมเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามนโยบายฯ ฉบับนี้ ตั้งแต่ช่วงก่อนเข้าถือครองสินทรัพย์ การสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) การควบรวม และเข้าซื้อกิจการ (Mergers and Acquisitions) รวมถึงการวางแผน ออกแบบ ดำเนินการ จนสิ้นสุดการดำเนินการ
 
Statement แนบท้ายนโยบาย QSHE 2568
บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) มุ่งมั่นที่จะพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ในการนี้ คำแสดงความจำนงด้าน QSHE ของบริษัทฯ ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย QSHE ระดับสูงสุดขององค์กร มุ่งเน้นหลักการดังนี้
1. ทำให้มั่นใจได้ว่ามีการปฏิบัติที่สอดคล้องกับกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรฐานสากล พันธสัญญา โครงการที่สมัครใจเข้าร่วม รวมถึงข้อตกลงร่วม ด้านคุณภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม (QSHE)
2. จัดทำวัตถุประสงค์ เป้าหมายเชิงปริมาณหรือที่สามารถวัดได้ รวมถึงตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านคุณภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม (QSHE) เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดผลกระทบเชิงลบด้านสิ่งแวดล้อม ลดความสูญเสียจากอุบัติการณ์ และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและการวัดผลในด้านความปลอดภัย และอาชีวอนามัย

3. กำหนดมาตรฐานหรือขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อเสริมประสิทธิภาพด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม (OHS&E) ซึ่งรวมถึงการประเมินความเสี่ยงและอันตราย การตรวจสอบ/ตรวจประเมินภายใน การสอบสวนอุบัติการณ์ต่าง ๆ ทั้งในกรณีบาดเจ็บ เจ็บป่วยจากการทำงาน และการเกิดโรคในสถานที่ทำงาน รวมถึงผนวกให้ข้อกำหนดด้าน OHS&E เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารสัญญา หรือ TOR

4. ประเมิน ควบคุม และติดตามความก้าวหน้าของแผนงาน และแผนลดความเสี่ยง ด้าน QSHE เพื่อป้องกันประเด็นหรือความเสี่ยง ที่อาจทำให้การดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

5. จัดทำบัญชีและรายงานข้อมูลการดำเนินงานด้าน QSHE โดยนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจและปฏิบัติการให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

6. จัดให้มีการฝึกอบรมด้าน QSHE แก่พนักงาน ผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอก และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมที่ดำเนินการ เพิ่มความตระหนักและลดอุบัติการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงส่งเสริมเพื่อให้เกิดการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

7. ส่งเสริมการพัฒนาระบบบริหารงานของคู่ค้า โดยให้คำปรึกษา ควบคุม ตรวจติดตาม และประเมินผล เพื่อให้มีการดำเนินงานตามข้อตกลง มาตรฐานและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ และคำนึงถึงการบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่าอย่างยั่งยืน