การบริหารจัดการความปลอดภัยและอาชีวอนามัย

ความสำคัญ

(GRI 3-3a.)

          การที่ OR มีการดำเนินธุรกิจที่มีความหลากหลาย จึงมีความจำเป็นต้องให้ความสำคัญด้าน ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเป็นสถานประกอบการและธุรกิจที่ปลอดภัยให้แก่ พนักงาน ผู้ค้า และผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ (ผู้รับเหมา) ผู้ร่วมทุน รวมไปถึงชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงสถานประกอบการของ OR โดยตระหนักว่าประเด็นความปลอดภัยและอาชีวอนามัยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิขั้นพื้นฐานที่พนักงาน ผู้ค้า และผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ (ผู้รับเหมา) ผู้ร่วมทุน และชุมชนรอบสถานประกอบการ OR ควรได้รับ ดังนั้น OR จึงกำหนดนโยบาย แนวทางและการบริหารจัดการความปลอดภัยและอาชีวอนามัย และคู่มือปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของประเทศไทยและมาตรฐานทางสากล  โดยครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการผลิต การขนส่ง ไปจนถึงการจำหน่ายสินค้าและบริการ ที่ครอบคลุมทั้งธุรกิจ Mobility และ Lifestyle

ผลการดำเนินงาน

(GRI 3-3e)

แนวทางการบริหารจัดการ

(GRI 2-13., GRI 2-23., 3-3b., GRI 3-3d., GRI e., GRI 403-1., GRI 403-2., GRI 403-7., GRI 403-9., GRI 403-19.)

             ภายใต้เป้าหมายระยะยาว OR 2030 Goals มีการกำหนดประเด็นด้านสุขภาพและความปลอดภัย เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ครอบคลุมทั้งในพื้นที่ธุรกิจ และชุมชนรอบพื้นที่ธุรกิจ โดยมุ่งมั่นในการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยให้แก่พนักงานและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กรที่อาจได้รับผลกระทบจากการประกอบธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม

             การประกอบธุรกิจจะดำเนินไปได้ด้วยดีและน่าเชื่อถือนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่พนักงานมีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งทางกายและจิตใจ โดยมีนโยบายคุณภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (QSHE) และคู่มือระบบการบริหารจัดการ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) เป็นกรอบการดำเนินงานหลักที่สำคัญ และมีการสื่อสารให้พนักงาน OR ทุกคนรับทราบผ่านช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย รวมถึงการเปิดเผยต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องบนเว็บไซต์ของบริษัท

จากผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในปี 2567 มีตัวชี้วัดที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายด้านความปลอดภัย ในเรื่องของอุบัติเหตุในการทำงานของพนักงานและผู้รับเหมา และจำนวนการเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ โดยสาเหตุหลักมาจากการละเมิดกฎระเบียบด้านความปลอดภัย OR จึงกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยที่เข้มงวดมากขึ้น รวมไปถึงการดำเนินกิจกรรมที่สร้างความตระหนักด้านความปลอดภัยให้แก่พนักงาน และผู้รับเหมาที่จริงจัง เพื่อมุ่งหวังให้พนักงานและผู้รับเหมาได้รับความปลอดภัยอย่างสูงที่สุดในการปฏิบัติงานกับ OR

นโยบายคุณภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (QSHE Policy)

          ในปี 2567 OR มีการทบทวนนโยบายคุณภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (QSHE Policy) เพื่อให้ครอบคลุมข้อกำหนดที่เหมาะสมต่อการดำเนินงานในทุกธุรกิจ และยังคงใช้คู่มือระบบการบริหารจัดการ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) เป็นกรอบการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานของประเทศไทยและมาตรฐานสากล มุ่งเน้นการปฏิบัติตามกฎหมาย และการบริหารจัดการประเด็นความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ( คลิกเพื่ออ่านนโยบาย QSHE เพิ่มเติม )

โครงสร้างการกำกับดูแลด้านความปลอดภัย และอาชีวอนามัย

            ฝ่ายบริหารความยั่งยืน และคุณภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย โดยกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อนำไปสื่อสารและทำให้เกิดการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับนโยบายและแนวปฏิบัติดังกล่าว โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่รับผิดชอบจากแต่ละสถานประกอบการ เช่น เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในระดับวิชาชีพของส่วนงานปฏิบัติการคลัง เป็นต้น

            เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรจะบรรลุเป้าหมายด้านการจัดการความปลอดภัยและอาชีวอนามัย  OR จึงกำหนดให้ประเด็นด้านความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน (Operational Safety) เป็นตัวชี้วัดขององค์กร (Corporate KPI) ซึ่งมีผลต่อการประเมินผลการปฏิบัติงาน (Performance Appraisal) และเป็นความรับผิดชอบของพนักงานทั้งองค์กร เพื่อให้ทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วมในการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายด้านความปลอดภัย โดยมีการนำเสนอผลการดำเนินงานเป็นประจำทุกไตรมาส ต่อคณะกรรมการคุณภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (OR QSHE GMC) ซึ่งมีประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นประธานในคณะกรรมการ เพื่อให้แนวทางการปรับปรุงผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ระบบบริหารจัดการและโครงการด้านความปลอดภัย และอาชีวอนามัย

            OR ประยุกต์ใช้มาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (ISO 45001) กับสถานประกอบการส่วนคลังที่บริษัทฯ ดำเนินการเอง (Own Operation) ทั้งหมด ได้แก่ โรงงานซ่อมบำรุงถังก๊าซหุงต้มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น และโรงงานซ่อมบำรุงถังก๊าซหุงต้มภาคกลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยในปี 2567 มีการขยายการดำเนินการไปยังโรงงานซ่อมบำรุงถังก๊าซหุงต้มภาคใต้ จังหวัดสงขลา  มีการดำเนินการตรวจติดตาม ตรวจสอบภายใน (Internal inspections) รวมถึงการกำหนดมาตรฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเฉพาะตามลักษณะของธุรกิจ เช่น ข้อปฏิบัติด้านความปลอดภัยของการขนส่ง และข้อปฏิบัติด้านความปลอดภัยทางอาหารสำหรับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น ตลอดจนการกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยสำหรับสถานีบริการ เพื่อให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจของผู้แทนจำหน่าย และแฟรนไชส์ รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาระบบบริหารงานของผู้ค้า โดยกำหนดให้มีการทบทวนประสิทธิภาพของการบริหารจัดการของแต่ละพื้นที่ปฏิบัติงานทั้งโดยหน่วยงานภายในและภายนอก เพื่อให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

            นอกจากนี้ OR มีการนำระบบการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต หรือ Process Safety Management (PSM) มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่คลังภาคตะวันออก ร่วมกับ ปตท. และพื้นที่โรงงานซ่อมบำรุงสีถังก๊าซหุงต้มภาคใต้ จังหวัดสงขลา รวมถึงการอบรมให้ความรู้ด้าน PSM ให้แก่พนักงานในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินงาน และการประกอบธุรกิจมีความปลอดภัย

            OR มีการพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย ได้แก่ Work Permit System ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการขออนุญาตเข้าทำงานในพื้นที่ของ OR ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้การควบคุมการดำเนินงานสอดคล้องตามข้อกำหนดกฎหมายอย่างครบถ้วน และเป็นการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบอีกด้วย

นอกจากนี้ OR ยังมีการจัดทำระบบ e-MoC หรือระบบการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง (Management of Change) เพื่อให้การบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงภายในหน่วยงานปฏิบัติการคลังปิโตรเลียมเป็นไปอย่างมีระบบโดยที่มีระดับความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้และสามารถบริหารจัดการได้จริง

            ในส่วนของการจัดการ OHS สำหรับผู้ค้าและผู้รับเหมา OR บูรณาการ ESG รวมถึงเกณฑ์ OHS ในข้อกำหนดด้านการจัดซื้อและสัญญา เพื่อให้มั่นใจถึงประสิทธิผลของแนวปฏิบัติ OHS และลดความเสี่ยงด้าน OHS จากการทำงานของผู้ค้าและผู้รับเหมา โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บไซต์ ‘การจัดการห่วงโซ่อุปทาน’ (Link: https://www.pttor.com/en/sustainability/sustainability_page/Supply-Chain-Management)

การประเมินความเสี่ยง

              OR มีการประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัย และอาชีวอนามัย สำหรับพนักงาน ผู้ค้าและผู้รับเหมา รวมถึงผู้ที่เข้ามาในพื้นที่ของ OR โดยพิจารณาจากประเด็นภายใน (Internal Issues) และประเด็นภายนอก (External Issue) รวมถึงข้อกำหนดของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในทุกสถานประกอบการ ในกรณีมีการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการทำงาน OR จะมีการทบทวนขั้นตอนการดำเนินงานและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง โดยฝ่ายบริหารความยั่งยืน และคุณภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ดังนี้

ขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัย (Procedures of Safety Risk Assessment and Safety Risk Management)

  1. การจำแนกกิจกรรมงานหรือขั้นตอนการปฏิบัติงาน พิจารณาตั้งแต่กระบวนการแรกจนถึงกระบวนการสุดท้ายของการปฏิบัติงาน เพื่อให้ได้รายการกิจกรรม หรือขั้นตอนของการปฏิบัติงาน

  2. การบ่งชี้อันตราย และการประเมินความเสี่ยง นำรายการกิจกรรม หรือขั้นตอนการปฏิบัติงาน ที่ได้จากข้อ 1 นำมาระบุอันตรายที่อาจเกิดขึ้นโดยวิธีการที่มีความเหมาะสมกับกิจกรรม และขั้นตอนการปฏิบัติงานนั้น รวมทั้งดำเนินการประเมินความเสี่ยงตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมของแต่ละธุรกิจ
  3. การจัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัย นำผลจากการประเมินความเสี่ยงมาจัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยงโดยพิจารณาดังนี้
      • ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้ ให้จัดทำแผนในการลดหรือบรรเทาความเสี่ยง โดยพิจารณาเพิ่มมาตรการควบคุมตามหลักการลำดับขั้นของการควบคุม (Hierarchy of Control) ให้ความเสี่ยงลดลงมาอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ จากนั้นต้องควบคุมมาตรการที่เพิ่มให้คงประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
      • ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ให้จัดทำแผนในการควบคุมความเสี่ยง โดยการคงประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมที่มีอยู่
  4. การสื่อสาร ทบทวน และติดตามประสิทธิภาพ ของการประเมินและการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัย

          OR จะจัดลำดับความสำคัญจากผลการประเมินความเสี่ยงที่ได้ดำเนินการ เพื่อนำมากำหนดมาตรการลดความเสี่ยง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Zero Accident รวมถึงการกำหนดแผนการตอบสนองเหตุฉุกเฉิน โดยเหตุฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นในสถานประกอบการของ OR ได้แก่ เพลิงไหม้ อุบัติเหตุงานก่อสร้าง และอุบัติเหตุจากการขนส่ง เป็นต้น 

          ในปี 2566 พบว่าประเภทงานที่มีอันตรายสูง ได้แก่ การทำงานบนที่สูง โดย OR มีการป้องกันอันตรายที่เกิดจากการทำงาน โดยพิจารณาตามลำดับขั้นของการควบคุมอันตราย (Hierarchy of Controls) ดังต่อไปนี้

      • ปรับปรุงขั้นตอนการปฏิบัติงาน ให้ครอบคลุมขั้นตอนการทำงาน และการตรวจสอบความผิดปกติของการปฏิบัติงาน ทบทวนการชี้บ่งอันตรายและการประเมินความเสี่ยง กำหนดมาตรการควบคุมความเสี่ยงให้ครอบคลุมทุกกิจกรรม
      • จัดทำมาตรฐานด้านวิศวกรรมสำหรับการปฏิบัติงานบนที่สูง ได้แก่ งานติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อเป็นมาตรฐานในการติดตั้งอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยก่อนการปฏิบัติงาน เช่น รูปแบบการติดตั้ง Walkway Lifeline การสำรวจโครงสร้างหลังคา การติดตั้ง Safety Net เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นแนวทางสำหรับการปฏิบัติงาน และการเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกัน และยับยั้งการตกจากที่สูง ให้เหมาะสมกับงานที่ปฏิบัติ รวมถึงการตรวจสอบอุปกรณ์การทำงานบนที่สูงก่อนเริ่มงาน
      • ควบคุมการปฏิบัติงานของผู้รับเหมาให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด

การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ และโปรแกรมด้านสุขภาพ (Health Risk Assessment and Health Program)

          OR มีการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพสำหรับพนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงเป็นประจำทุกปี รวมถึงมีการกำหนดแนวปฏิบัติเรื่องการตรวจสุขภาพพนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสียง และดำเนินการตามโปรแกรมด้านสุขภาพโดยครอบคลุมการตรวจสุขภาพแรกเข้าทำงานของพนักงานใหม่ กรณีเปลี่ยนงาน (สรรหาภายในและโยกย้ายงาน) กรณีพ้นสภาพงานการเป็นพนักงาน และการตรวจสุขภาพอาชีวอนามัยประจำปีทั้งของพนักงานและผู้รับเหมาประจำ ทั้งนี้หน่วยงานต้นสังกัด (ผู้บังคับบัญชา) และฝ่ายบริหารความยั่งยืน และคุณภาพความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (บยญ.) จะร่วมกันวิเคราะห์ผลตรวจสุขภาพของพนักงาน ซึ่งบันทึกอยู่ในรูปแบบ e-Health Book เพื่อนำมาใช้ในการประเมินความเสี่ยง และปรับปรุงสภาพพื้นที่ปฏิบัติงาน นำไปจัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพเพิ่มเติม เพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของพนักงาน

          OR ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านสุขภาพของพนักงาน และในปัจจุบันที่เกิดโรคที่ทำให้ผู้คนเกิดการบาดเจ็บที่เฉียบพลันเพิ่มมากขึ้น OR ได้กำหนด การจัดการภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ (Medical Emergency Management) เป็นแนวทางดำเนินการในการรับมือกับกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยของพนักงาน รวมถึงการกำหนดแนวทางการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างมีประสิทธิภาพ

วัฒนธรรมความปลอดภัย และอาชีวอนามัยในการทำงาน (Safety Culture and Health at Work)

             OR ตระหนักถึงการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในกลุ่มพนักงานและผู้รับเหมา โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยของ กลุ่ม ปตท. และสนับสนุนให้ผู้บริหารทุกระดับในทุกสายงานของบริษัทฯ สื่อสารกับพนักงานในเรื่องความปลอดภัย ปี 2567 OR กำหนดเป้าหมายให้ผู้บริหารระดับฝ่ายขึ้นไปและส่วนขึ้นตรง ประธานผู้บริหารฯ (ปธบ.) และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จะต้องเป็นต้นแบบ (Role Model) ในการติดตามตรวจสอบและสื่อสารการดำเนินงานตามคู่มือมาตรฐาน ตรวจสอบความเสี่ยงและความปลอดภัย เพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติงานที่ต่ำกว่ามาตรฐานของแต่ละสถานประกอบการ นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้จัดการส่วนของพื้นที่ปฏิบัติการดำเนินการ QSHE Tour เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติงานพนักงานและความปลอดภัยของพื้นที่ ควบคุมดูแลให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนด และ QSHE Talk เพื่อสื่อสารประเด็น ข่าวสาร หรือองค์ความรู้ในการสร้างความตระหนักด้านสุขภาพและความปลอดภัยให้กับพนักงานก่อนเริ่มการประชุม เป็นต้น

              นอกจากนี้พนักงาน OR ทุกคนได้รับการสื่อสารเรื่องการให้สิทธิ Stop Work Authority ที่สามารถปฏิเสธการปฏิบัติงานในพื้นที่อันตราย หรืองานที่เป็นอันตราย โดยไม่มีมาตรการป้องกันด้านความปลอดภัยที่เหมาะสม

             ในปี 2567 OR จัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมด้านความปลอดภัย (Safety Culture) เพื่อส่งเสริมให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการสร้างความตระหนักด้านความปลอดภัยภายในองค์กร ผ่านการจัดทำวิดีโอสั้นด้านความปลอดภัย ภายใต้หัวข้อ กฎความปลอดภัยของ OR (OR Life Saving Rules) และการกระทำหรือสภาพการณ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ในการส่งเสริมให้เกิดการทำงานที่ปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ (Zero Accident) ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากพนักงาน โดยสายงานสำนักงาน (Office) มีพนักงานร่วมส่งคลิปเข้าประกวด 13 หน่วยงาน จำนวน 20 วิดีโอ และสายงานพื้นที่ปฏิบัติการของ OR ร่วมส่งคลิปเข้าประกวด 22 หน่วยงาน จำนวน 73 วิดีโอ

การสอบสวนอุบัติการณ์ที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน (Procedures to investigate work-related Incidents)

             การรายงานและการสอบสวนอุบัติการณ์หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องจากการทำงาน ถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบการจัดการอุบัติการณ์ของ OR เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย QSHE และรายงานให้แก่ผู้บริหารรับทราบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบ  วิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริง (Root Cause) และกำหนดมาตรการควบคุมป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ OR จึงได้กำหนดให้มีการรายงานอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นอันเกี่ยวเนื่องจากการทำงาน และมีการเก็บบันทึกไว้อย่างเป็นระบบ โดยครอบคลุมเหตุการณ์อุบัติเหตุ (Accident) และเหตุการณ์เกือบเกิดอุบัติเหตุ (Near Miss) ทั้งนี้ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ผู้อยู่ในเหตุการณ์หรือผู้พบเห็นจะต้องรายงานไปยังเจ้าของพื้นที่และผู้เกี่ยวข้องทราบภายในระยะเวลาที่กำหนด ดังนี้

  • อุบัติเหตุร้ายแรงและใหญ่หลวง ต้องมีการรายงานภายใน 24 ชั่วโมง
  • อุบัติเหตุเล็กน้อยและปานกลาง ต้องมีการรายงานภายใน 72 ชั่วโมง

             และจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุการณ์เพื่อสอบสวนอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และกำหนดมาตรการควบคุมป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำอีกอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

             การสอบสวนอุบัติการณ์ของ OR จะดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยใช้เครื่องมือการสอบสวนที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับลักษณะของอุบัติการณ์ ในการดำเนินการค้นหาสาเหตุที่แท้จริง หลังจากนั้น OR จะมีการวิเคราะห์ ตรวจติดตามผลการดำเนินการแก้ไข ปรับปรุงตามมาตรการควบคุมป้องกันที่ได้ระบุไว้เป็นระยะ นอกจากนี้เพื่อให้การควบคุมป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมีประสิทธิภาพ OR ได้จัดทำการเรียนรู้จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น (Lesson Learned) สื่อสารให้กับพนักงาน และผู้รับเหมาทราบผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุในรูปแบบเดิมขึ้นอีก

การมีส่วนร่วมของพนักงานในด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (Employee Participation in Occupational, Health and Safety)

             OR มีการแต่งตั้งคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในทุกสถานประกอบการที่มีพนักงานถึงตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด โดยคณะกรรมการฯ มีวาระการประชุมเป็นประจำเพื่อหารือในเรื่อง ประเด็นด้านความปลอดภัย และข้อเสนอแนะในการปรับปรุงด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตลอดจนผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในพื้นที่ปฏิบัติงาน

             นอกจากนี้ OR กำหนดให้ฝ่ายบริหารความยั่งยืน และคุณภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม มีทีมงานด้านความปลอดภัย และอาชีวอนามัยทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่พนักงานและบริหารจัดการงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย รวมถึงการตั้งเป้าหมายด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ได้แก่ จำนวนอุบัติเหตุถึงขั้นหยุดงาน (Lost Time Accident: LTA) อัตราการบาดเจ็บจากการทำงาน (Total Recordable Injuries Rate: TRIR) อัตราการเจ็บป่วยจากการทำงาน (Total Reportable Occupational Illness Rate: TROIR) การค้นหาและรายงานการกระทำหรือสภาพแวดล้อมที่ต่ำกว่ามาตรฐาน การสื่อสารด้านความปลอดภัย อุบัติเหตุทางรถยนต์ (Major Car Accident) อุบัติเหตุรถขนส่งผลิตภัณฑ์ (Transportation Safety) และ ความปลอดภัยของกระบวนการผลิต (Process Safety)

โดยอุบัติเหตุถึงขั้นหยุดงานของพนักงาน (Lost Time Accident: LTA) อุบัติเหตุทางรถยนต์ (Major Car Accident) อุบัติเหตุรถขนส่งผลิตภัณฑ์ (Transportation Safety) และ ความปลอดภัยของกระบวนการผลิต (Process Safety) เป็นตัวชี้วัดระดับองค์กร (Corporate KPI) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำหรับการประเมินผลการดำเนินงานของผู้บริหารระดับสายงาน พนักงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการในประเด็นด้านอาชีวอนามัยทั่วทั้งองค์กร

การส่งเสริมด้านสุขภาพจิตที่ดีให้แก่พนักงาน

             OR ให้ความสำคัญต่อด้านสุขภาพจิตที่ดีของพนักงาน ด้วยความตระหนักว่าสุขภาพจิตที่ดีมีผลต่อสุขภาพร่างกายอันส่งผลต่อเนื่องถึงต่อการทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น OR จึงจัดกิจกรรมส่งเสริมด้านสุขภาพจิตให้แก่พนักงานด้วยกิจกรรมการให้ความรู้โดยผู้เชี่ยวชาญฟรีแก่พนักงาน และมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับการบริการจัดการเวลาในการดำเนินชีวิตและการทำงานที่มีประสิทธิภาพ (Work-Life Balance) อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังมีการจัดทำโครงการ OR Happy Healthy Mind บนเว็บไซต์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพนักงาน ผ่านการบริการอย่างหลากหลาย ได้แก่

  1. แบบประเมินตนเอง สำหรับประเมินระดับความเครียด หรืออาการซึมเศร้าเบื้องต้นด้วยตนเอง
  2. สัมมนาออนไลน์ประจำเดือน เพื่อให้ความรู้ด้านสุขภาพจิตจากนักจิตวิทยาเดือนละ 1 ครั้ง
  3. Self-Help Center รวบรวมบทความ วิดีโอ และแหล่งความรู้ที่มีประโยชย์เกี่ยวกับสุขภาพจิตสำหรับให้พนักงานนำไปประยุกต์ใช้ด้วยตนเอง
  4. Emergency Call พนักงานสามารถติดต่อนักจิตวิทยาโดยตรงในกรณีมีเหตุเร่งด่วนได้ตลอด 24 ชั่วโมง
  5. LINE Chat Service สามารถติดต่อกับนักจิตวิทยาเพื่อปรึกษาด้านสุขภาพจิตรูปแบบการแชทผ่านทางข้อความ
  6. นัดหมายเพื่อรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิต โดย จิตแพทย์ และนักจิตวิทยา
Previous slide
Next slide

การอบรมด้านอาชีวนามัยและความปลอดภัยแก่พนักงาน (Health and Safety Training for Employee)

              OR ได้กำหนดความรู้ด้านความปลอดภัยประจำปีที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Zero Accident และมอบหมายให้พนักงานพัฒนาความรู้ ทักษะ ความสามารถผ่านวิธีต่าง ๆ อาทิ หลักสูตรการอบรม การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-Study) การศึกษาพร้อมกับการปฏิบัติ (On the Job Training) นอกจากนี้ องค์กรมีกระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management)  เก็บไว้ในระบบหรือฐานข้อมูลกลางซึ่งผู้ปฏิบัติงานสามารถเข้าถึงได้ มีการจัดเก็บความรู้ที่สำคัญขององค์กร และนำมาสื่อความตามรอบของการทบทวนการจัดการ โดยในปี 2567 OR มีการจัดอบรมด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยให้แก่พนักงานและผู้รับเหมารวมกันทั้งสิ้น 42 หลักสูตร  โดยประกอบไปด้วยเนื้อหาการอบรมที่เกี่ยวข้องกับด้านความปลอดภัย อาทิ การปฏิบัติงานบนที่สูงและนั่งร้าน เทคนิคการควบคุมงานผู้รับเหมาและการตรวจสอบอุปกรณ์ การวิเคราะห์และสอบสวนอุบัติเหตุ การปฐมพยาบาลและการช่วยพื้นคืนชีพ First Aid & CPR การดับเพลิงขั้นต้น การดับเพลิงขั้นก้าวหน้า การใช้ระบบ Logout Tagout และระบบใบขออนุญาตทำงาน การชี้บ่งอันตรายและการประเมินความเสี่ยง Hazard and Operability Study (HAZOP) Layer of Protection Analysis (LOPA) การสร้างความตระหนักด้านความมั่นคงปลอดภัยสถานีบริการและร้านค้าปลีก เป็นต้น

          เนื้อหาการอบรมที่เกี่ยวข้องกับด้านอาชีวอนามัย อาทิ การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ ความรู้พื้นฐานด้านการยศาสตร์ การบริหารกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการเมื่อยล้าจากการทำงาน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมวัยทำงานลดเสี่ยงโรคเรื้อรัง NCDs การบริหารกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการเมื่อยล้าจากการทำงาน สร้างแรงบันดาลใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในการออกกำลังกาย ความรู้พื้นฐานด้านอาชีวอนามัยนสำหรับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยและผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น

Previous slide
Next slide

          เนื้อหาการอบรมที่เกี่ยวข้องกับด้านอาชีวอนามัย อาทิ สุขศาสตร์อุตสาหกรรมในสถานประกอบการ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการจ่ายยาให้ลูกจ้าง การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ ความรู้พื้นฐานด้านการยศาสตร์ การบริหารกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการเมื่อยล้าจากการทำงาน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมวัยทำงานลดเสี่ยงโรคเรื้อรัง NCDs สร้างแรงบันดาลใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการออกกำลังกาย และความรู้พื้นฐานด้านอาชีวอนามัยนสำหรับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยและผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น

การทบทวนประสิทธิภาพของระบบการจัดการ และการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (OHS Management System Performance Review)

          OR มีการจัดทำคู่มือระบบการจัดการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย และสื่อสารไปยังทุกหน่วยธุรกิจ รวมถึงบริษัทในกลุ่ม เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการนั้นมีประสิทธิภาพ เพียงพอ ต่อเนื่องและสอดคล้องกับนโยบาย QSHE ของ OR นอกจาก ระบบการจัดการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ยังมีการจัดทำระบบบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management System : BCMS) ซึ่งมีการตรวจประเมินโดยหน่วยงานภายนอก (External Audit) และการตรวจประเมินภายใน (Internal Audit)  จากการแต่งตั้งผู้ตรวจประเมินภายใน (Internal Auditor) เพื่อจัดทำแผนการตรวจประเมินประจำปี และมีการจัดเก็บผลการตรวจประเมินในระบบ Management System Audit การตรวจติดตามภายในระบบ QSHE โดยจะมีการนำผลการตรวจประเมิน มาวิเคราะห์สมรรถนะของระบบการจัดการเพื่อทำการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการต่าง ๆ ในทุก ๆ สถานประกอบการของ OR รวมถึงการทบทวนผลการดำเนินงานที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานตามเป้าหมายที่กำหนดขึ้น

ระบบความปลอดภัยในการขนส่ง (Safety System in Transportation)

             การขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ซึ่งดำเนินการโดยผู้ค้านั้น เป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงทั้งในด้านความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานและสังคมชุมชน รวมถึงเป็นความเสี่ยงซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน OR จึงกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยที่เข้มงวดสำหรับกิจกรรมดังกล่าว ได้แก่ การใช้ระบบควบคุมและติดตามการขนส่ง (In-Vehicle Monitoring System : IVMS) กับรถขนส่งในสัญญาของ OR  ซึ่งประกอบด้วยการติดตั้งระบบบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถขนส่ง (GPS) ระบบกล้อง CCTV เพื่อใช้ในการบันทึกภาพการเดินรถตลอดการขนส่ง โดยทำการเก็บข้อมูลที่บันทึกไว้ให้สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้อย่างน้อย 7 วัน รวมทั้งมีระบบป้องกันความอ่อนล้าระหว่างการขับขี่ (Fatigue Management System) ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบ IVMS อีกด้วย นอกจากนี้ มีการกำหนดให้รถขนส่งติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง และการควบคุมการหกรั่วไหลในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินตามที่กฎหมายกำหนด  รวมถึงกำหนดให้มีการแจ้งเตือนหากมีการขับขี่ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือข้อกำหนดของ OR นอกจากนี้ OR มีการประเมินการบริหารงานของผู้ค้า ตามแนวทางการบริหารจัดการความปลอดภัยในการขนส่ง (Road Safety Management Guideline) ของกลุ่ม ปตท. เป็นประจำทุกปี เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดความตระหนักด้านความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียจากอุบัติเหตุจากการขนส่ง ทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน อันเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอีกทางหนึ่งด้วย

             ในส่วนของการบริหารการขนส่งผลิตภัณฑ์หล่อลื่น OR ได้กำหนดความปลอดภัยด้านการขนส่ง ในสัญญาจ้างกับผู้ค้า ก่อนเริ่มการขนส่งผลิตภัณฑ์หล่อลื่น เพื่อกำหนดขอบข่ายด้านความปลอดภัยระหว่างการส่งมอบ ไม่ให้เกิดความสูญเสียจากอุบัติเหตุจากการขนส่ง ทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สิน สังคมและชุมชน ในสัญญากำหนดให้ติดตั้งกล้องบันทึกภาพหน้ารถ และระบบตำแหน่งระหว่างการขนส่ง (GPS Tracking) เพื่อใช้ในการตรวจสอบสถานะขนส่ง เพื่อรักษาการดำเนินงานให้เป็นไปตามระบบและมาตรฐานของข้อกำหนด อีกทั้งหน่วยงานได้ดำเนินการประเมินผู้ทำการขนส่งสินค้า เพื่อให้มั่นใจว่าการปฏิบัติงานของผู้ค้าเป็นไปตามมาตรฐานที่ OR กำหนดไว้ โดยการตรวจประเมินผู้ค้าดังกล่าวแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่

      1. การประเมินผลการปฏิบัติงนของผู้ค้า (รายเดือน)
      2. การประเมินผลด้านความปลอดภัยและกฎหมาย
      3. การประเมินผลการบริหารงานของผู้ค้า (Management Audit) ตามแนวทางของปลุ่ม ปตท.

             ทั้งนี้ OR จะสรุปรวมผลประเมินการปฏิบัติงานเป็นรายเดือน รายไตรมาสและรายปี โดยหากผู้รับจ้างขนส่งมีผลประเมินไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่ OR กำหนด จะมีการดำเนินการตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาและมาตรการของ OR

             สำหรับมาตรการด้านความปลอดภัยในการขนส่งทางเรือ เรือขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่เข้ามาทำการขนส่งผลิตภัณฑ์กับ OR ต้องผ่านขั้นตอนในการตรวจประเมินเรือของกลุ่ม ปตท. ดังนี้

      1. การตรวจเรือ (Inspection) จากผู้ตรวจประเมินเรือที่ได้รับการรับรองจาก OCIMF (Oil Companies International Marine Forum)
      2. การประเมินเรือ (Vetting) โดย PTT Group Marine Expertise ซึ่งใช้ผลจากการตรวจเรือมาประเมินกับ Marine Environmental and Safety Criteria โดยขั้นตอนทั้งหมดของระบบตรวจประเมินเรือจะถูกบันทึกในระบบ Web Marine Quality Assurance Program

             และในส่วนของการประเมินผลการบริหารงานของผู้ขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมทางเรือ OR ได้นำเครื่องมือ Tanker Management and Self-Assessment (TMSA) ของ OCIMF มาเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ค้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมทางเรือ และยกระดับมาตรฐานในการปฏิบัติงานของผู้ขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมทางเรือของ OR ให้เทียบเคียงกับมาตรฐานสากล

ผลดำเนินงาน

             จากการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปี 2567 OR มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุที่ลดลงจากปี 2566

             ความมุ่งมั่นสู่การเป็นองค์กรที่ไร้อุบัติเหตุ (Zero Accident) คือแรงผลักดันให้ OR ริเริ่มโครงการและกิจกรรมที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยขององค์กร จึงเป็นผลทำให้เกิดการจัดการงาน “วันความปลอดภัย” (OR Safety Day 2024) ด้วยแนวคิด “Hero to Zero Accident ความปลอดภัยสร้างได้ด้วยตัวเรา” ซึ่งครอบคลุมการดำเนินธุรกิจของ OR ในทุกประเภทสถานประกอบการ โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 400 คน ประกอบด้วย พนักงานของ OR ผู้รับเหมา สังคมชุมชน หน่วยงานราชการ และตัวแทนของสถานศึกษา โดยรอบพื้นที่ปฏิบัติงาน ณ สถาบันพัฒนาศักยภาพผู้นำและธุรกิจ (OR Academy) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และมีการถ่ายทอดผ่านระบบออนไลน์ไปยังพื้นที่ปฏิบัติการต่าง ๆ ของ OR ทั่วประเทศ

            OR ให้ความสำคัญในการดำเนินงานอย่างปลอดภัย มุ่งมั่นในการดูแลความปลอดภัยให้กับพนักงาน ผู้รับเหมา ลูกค้า ผู้ค้า รวมถึงชุมชนรอบสถานประกอบการ OR โดยตระหนักว่าความปลอดภัยเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ รวมทั้งช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้สังคมและชุมชนรอบข้างสถานประกอบการของ OR โดยการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของ OR ที่คำนึงถึงความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน ควบคู่กับการดูแลสังคมและชุมชน

           นอกจากนี้ OR ได้จัดทำโครงการวันความปลอดภัย (Safety Day) ของแต่ละพื้นที่ปฏิบัติการเพื่อเป็นการนำนโยบายและทิศทางการดำเนินงานด้านความปลอดภัยไปสื่อสารต่อให้กับพนักงานในพื้นที่ปฏิบัติการ สร้างความตระหนัก และส่งเสริมด้านความปลอดภัย ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนความปลอดภัยขององค์กร และเล็งเห็นความสำคัญในการรณรงค์ลดการเกิดอุบัติเหตุ

โครงการที่ OR ได้ดำเนินการเพื่อส่งเสริมสุขภาพของพนักงานมีดังต่อไปนี้

โครงการ Happy Workplace Project
โครงการส่งเสริมการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ถูกหลักการยศาสตร์ (Ergonomics)

โครงการให้ความรู้สำหรับการเฝ้าระวังทางสุขภาพ Health me Please

เพิ่มความตระหนักให้พนักงานเฝ้าระวังโรคที่กำลังมีการระบาด หรือมีการเตือนเฝ้าระวังจากภาครัฐ

โครงการ OR Exercise Together for Better Health

ส่งเสริมให้พนักงานตระหนักเรื่องการดูแลสุขภาพของตนเองในเชิงป้องกัน (Preventive)

 

รู้หรือไม่ เราแข็งแรงขนาดไหน

เพื่อร่วมทดสอบสมรรถนะของร่างกาย พร้อมได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในการเฝ้าระวัง ป้องกันและส่งเสริมให้สุขภาพดีมากยิ่งขึ้น

Fit ChitChat วิ่งสบายๆ กับ CEO

กิจกรรมการเดิน-วิ่งรอบสวนรถไฟเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีของพนักงาน โดยเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยกับ ปธบ. และผู้บริหาร อย่างเป็นกันเอง และร่วมรับของที่ระลึกจากการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้นให้พนักงานหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพมากยิ่งขึ้น

OR Happy Healthy Mind

กิจกรรมสัมมนา Online หัวข้อ Unity in Diversity: Embracing Unique Perspectives and Differences  แม้จะเห็นต่าง แต่เราเข้าใจกัน OR Happy Healthy Mind Go Beyond Boundaries, Stepping Into Your Growth Zone ตั้งเป้าหมายให้ตัวเองเติบโตตลอดปี

 

 

เอกสารที่เกี่ยวข้อง