การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม

ความสำคัญ

(GRI 3-3a., GRI 3-3b.)

                  สิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงมี ไม่ว่าจะเป็นการมีคุณภาพอากาศที่สะอาด ห่างไกลจากมลพิษทางน้ำ รวมถึงมีการจัดการของเสียที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ เนื่องจากมนุษย์ล้วนพึ่งพาอาศัยสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จึงทำให้การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการดำเนินธุรกิจบนเส้นทางสู่ความยั่งยืน

                  จากรายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2567 (Global Risks Report 2024) โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับมิติสิ่งแวดล้อมนั้นถูกจัดอันดับให้เป็นความเสี่ยงโลกที่มีแนวโน้มจะรุนแรงในระยะยาว ได้แก่ อันดับ 1 ความเสี่ยงจากเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว อันดับ 2 การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อระบบโลก ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ถูกจัดอันดับเข้ามาใหม่ในปีนี้ อันดับ 3 ความเสี่ยงจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศ (biodiversity loss and ecosystem collapse) อันดับ 4 การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ และ อันดับ 10 มลพิษในอากาศ น้ำ ดิน

                  OR จึงให้ความสำคัญและตระหนักดีว่าการดำเนินธุรกิจนั้นต้องใช้ทรัพยากรและอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการให้ความสำคัญกับการจัดการสิ่งแวดล้อม จึงเป็นประเด็นที่ OR มุ่งหวังให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการกำหนดจุดยืนที่ชัดเจนของ OR ในการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน คงไว้ซึ่งความเชื่อมั่นในองค์กรและความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของ OR จึงเกิดเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจ ผ่านแนวคิด OR SDG (Small, Diversified, Green) หรือการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนในแบบฉบับของ OR เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย OR 2030 Goals โดยการสร้างโอกาสเพื่อสังคมสะอาด ส่งเสริมธุรกิจสีเขียว เพื่ออนาคตสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Green)

แผนการดำเนินงานปี 2567

(GRI 3-3e.)

แนวทางการบริหารจัดการ

(GRI 3-3c., GRI 3-3d., GRI 3-3e., GRI 3-3f)

                OR มีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมตามนโยบายคุณภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (QSHE) โดยมุ่งบรรเทาและป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและมุ่งเน้นการปฏิบัติตามข้อกำหนดในเรื่องการควบคุมการปล่อยของเสีย มลพิษ ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้ระบบการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (ISO14001) เป็นแนวปฏิบัติสำหรับคลังปิโตรเลียม คลังก๊าซ และคลังน้ำมัน กลุ่มโรงงานศูนย์ธุรกิจไลฟ์สไตล์ (OASYS) ศูนย์กระจายสินค้าผลิตภัณฑ์หล่อลื่นบางปะกง และกลุ่มอาคารสำนักงานพระโขนง ซึ่งในทุกสถานประกอบการดังกล่าว ได้รับการรับรองการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานภายนอกทั้งหมด (14001 Certification)

                OR กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมประจำปี ที่สอดคล้องกับเป้าหมายองค์กรหรือ OR 2030 Goals ด้าน Healthy Environment คือ เป้าหมายในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดปริมาณของเสียที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ ให้ได้มากกว่า 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับปี 2565 รวมถึงการใช้ระบบคุณภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม (Quality, Safety, Health and Environment Management System) ซึ่งมี SSHE Performance Database เป็นระบบเก็บข้อมูลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance Indicator : EPI) ของทุกสถานประกอบการที่ดำเนินการโดย OR ทั้งธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีก โดยมีฝ่ายบริหารความยั่งยืน และคุณภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (บยญ.) ติดตามการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม และนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์เพื่อปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป

           ดาวน์โหลดเอกสารนโยบายคุณภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (QSHE)

รูปภาพประชาสัมพันธ์นโยบาย QSHE Policy

                  นอกจากนี้ OR ได้ดำเนินการกำหนดและจัดทำมาตรฐานสำหรับ PTT Station หรือ Service Station Standard และมาตรฐานสำหรับโรงบรรจุก๊าซหุงต้ม ซึ่งมีข้อกำหนดด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการของเสีย การจัดการน้ำทิ้ง โดยดำเนินการจัดสื่อความให้แก่ลูกค้า และผู้แทนจำหน่าย PTT Station และโรงบรรจุก๊าซหุงต้ม อีกทั้งยังมีการตรวจสอบและประเมินการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของ PTT Station ที่ดำเนินการโดย OR อย่างสม่ำเสมอ

                  OR มีนโยบายส่งเสริมการให้ความรู้ ฝึกอบรมพนักงานและสร้างความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินการตามนโยบายคุณภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (QSHE) โดยในปี 2567 OR ดำเนินการจัดทำหลักสูตรในการฝึกอบรมด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ดังนี้

      1. การอบรมระบบการจัดการพลังงาน (Energy sharing) โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจวัดประเมินสมรรถนะด้านพลังงานและการพัฒนาระบบการจัดการพลังงาน ในรูปแบบทั้ง Onsite และ Online สำหรับพนักงานที่ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานและผู้ที่สนใจ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านพลังงานให้มีความรู้และความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดการพลังงาน ความรู้พื้นฐาน แนวทางการตรวจวัด การประเมินสมรรถนะด้านพลังงาน และการประหยัดพลังงาน
      2. การอบรมแนวทางการประเมินสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs Inventory) และลงพื้นที่เพื่อศึกษาอุปกรณ์ในการประเมินสารอินทรีย์ระเหยง่าย ณ พื้นที่ปฏิบัติการของ OR ได้แก่ คลังปิโตรเลียม โรงซ่อมสีถังก๊าซหุงต้ม โรงงานในกลุ่ม OASYS มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานที่ปฏิบัติงานมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ VOCs และสามารถดำเนินการประเมินสารอินทรีย์ระเหยง่าย ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
      3. การอบรมกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Law) ในรูปแบบ Onsite สำหรับพนักงานทุกระดับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานมีความรู้ ความเข้าใจสาระสำคัญของกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่มีการประกาศใช้ในปัจจุบันและเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการกำกับดูแลมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบกิจการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การจัดการสิ่งแวดล้อมของ OR

                  คลิกเพื่อศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของ OR เพิ่มเติม

ผลการดำเนินงาน

                  จากการมุ่งมั่นปฏิบัติตามข้อกำหนด และกฎระเบียบด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ทำให้ในปี 2567 ไม่พบประเด็นการละเมิดข้อกำหนดและกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินงานของ OR ในทุก ๆ ธุรกิจ

                  นอกจากนี้ ในปี 2567 OR ได้รับโล่เกียรติยศ “คนดี รักษ์โลก” ซึ่งรางวัลดังกล่าว ตอกย้ำความมุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจและสิ่งแวดล้อม คลิกเพื่ออ่านเพิ่มเติม 

เอกสารที่เกี่ยวข้อง