การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ

ความสำคัญ (Importance)

(GRI 3-3a., GRI 3-3b.)

          ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นต้นกำเนิดของนิเวศบริการ (Ecosystem Services) ที่มนุษย์พึ่งพาอาศัยเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น อากาศและน้ำที่สะอาด การควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous People) เป็นแหล่งผลิตอาหารและที่มารายได้ นอกจากทุนทางธรรมชาติ (Natural Capital) จะเป็นกุญแจสำคัญสู่การขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ยังเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจที่มีความสำคัญ ดังนั้นการรักษาระบบนิเวศที่มีความสมดุลจึงมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจที่มีความยั่งยืน 

          ในปี 2567 World Economic Forum กล่าวถึงการพึ่งพาธรรมชาติของเศรษฐกิจโลก โดยร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก (Gross Domestic Product: GDP) ขึ้นอยู่กับบริการทางระบบนิเวศที่ได้รับจากธรรมชาติ1 และได้แสดงถึงความสำคัญของภาคธุรกิจที่ต้องใส่ใจประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพที่ต้องการดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองต่อกรอบความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลก (Global Biodiversity Framework) ซึ่งมีเป้าหมาย 2 ประการ ได้แก่ การฟื้นฟูการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกภายในปี 2030 และบรรลุการสร้างผลเชิงบวกต่อธรรมชาติ (Nature Positive) ภายในปี 2050 

          OR ให้ความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพด้วยเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจ Lifestyle ที่การพึ่งพิงผลิตผลทางการเกษตรเป็นหลัก ได้แก่ เมล็ดกาแฟ อีกทั้ง OR ยังตระหนักถึงผลกระทบจากธุรกิจ Mobility ที่มีสถานประกอบการเป็นจำนวนมากทั่วประเทศไทย ดังนั้น ในปี 2567 OR จึงมีการประเมินความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพในกิจกรรมของ OR รวมถึงห่วงโซ่คุณค่าของ OR เพื่อให้สามารถวางแผนจัดการความเสี่ยงได้อย่างครอบคลุม ตลอดจนผลักดันการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามกลยุทธ์ OR SDG (Small, Diversified, Green) ให้บรรลุเป้าหมาย OR 2030 Goals ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการสร้างโอกาสเพื่อสังคมสะอาด ส่งเสริมธุรกิจสีเขียว เพื่ออนาคตสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Green)  ที่พร้อมจะดำเนินธุรกิจ ร่วมกับการใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม 

เป้าหมายปี 2567

(GRI 3-3e.)

          OR มุ่งมั่นดำเนินงานทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (OR Net Zero Pathway) ภายในปี 2573 โดยมีกลยุทธ์การดำเนินงาน 3Rs ได้แก่ ขยับ (Reduce) ขจัด (Remove) และขยาย (Reinforce) โดยมีการตั้งเป้าหมายในการกักเก็บคาร์บอนด้วยแนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions: NbS) โดยการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการปลูกป่า 10,000 ไร่ ภายในปี 2573

แนวทางการบริหารจัดการ (Management Approach)

(GRI 3-3c., GRI 3-3d., GRI 3-3e., GRI 3-3f)

ความหลากหลายทางชีวภาพ

          OR ตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อการปกป้องความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ OR จึงแสดงความมุ่งมั่นต่อการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพที่มีความอ่อนไหวดังที่ปรากฎในคำแสดงเจตจำนงด้านการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการไม่ตัดไม้ทำลายป่า ปี 2567 ที่จะดำเนินกิจการควบคู่กับการปกป้องและจัดการความหลากหลายทางชีวภาพตลอดห่วงโซ่อุปทาน มุ่งมั่นที่จะไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพ (No Net Loss: NNL) ส่งเสริมการดำเนินโครงการที่ทำให้บรรลุเป้าหมาย ความหลากหลายทางชีวภาพสุทธิเชิงบวก (Net Positive Impact) ภายใต้ขอบเขตที่สามารถจัดการได้ และหลีกเลี่ยงการสร้างผลกระทบต่อพื้นที่ป่าไม้สุทธิโดยมุ่งมั่นที่จะดำเนินการฟื้นฟูหรือปลูกป่าไม้เพื่อชดเชยการสูญเสียป่าไม้จากการดำเนินธุรกิจ (No Net Deforestation) โดยครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ ได้แก่ ธุรกิจที่ OR ดำเนินการ (Own Operations) ผู้ค้าทางตรง (Tier-1 Suppliers) และผู้ค้าทางอ้อม (Non-tier 1 Suppliers) ตลอดจนคู่ค้าทางธุรกิจของ OR (Business Partners)

          ภายใต้คำแสดงเจตจำนงด้านการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการไม่ตัดไม้ทำลายป่า ปี 2567 ในการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ OR ได้ประยุกต์ใช้หลักการบรรเทาผลกระทบตามลำดับขั้น (Mitigation Hierarchy Principle) ในการหลีกเลี่ยง การลด การฟื้นฟู และการชดเชยผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อความหลากหลายทางชีวภาพตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า

          นอกจากนี้ OR ได้มีการทบทวนนโยบายคุณภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (QSHE) ปี 2567  โดยให้มีการกำหนดความมุ่งมั่นในการปกป้อง และจัดการความหลากหลายทางชีวภาพด้วยการบูรณาการการประเมินและการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพ

การประเมินความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพ 2567

          ในปี 2567 OR ได้ทำการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพที่ครอบคลุมตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า ครอบคลุมธุรกิจ Mobility และ Lifestyle รวมทั้งหมด 68 พื้นที่ ได้แก่ ธุรกิจที่ OR ดำเนินการ (Own Operations) จำนวน 49 พื้นที่ ผู้ค้า (Upstream) จำนวน 14 พื้นที่ และลูกค้า (Downstream) จำนวน 5 พื้นที่ โดยมีกระบวนการประเมินการพึ่งพา (Dependency) ผลกระทบ (Impact) ความเสี่ยง (Risk) และโอกาส (Opportunity) ที่เกี่ยวข้องทางธรรมชาติด้วยเครื่องมือที่ได้การยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ ENCORE (Exploring Natural Capital Opportunities, Risks and Exposure) และ WWF Risk Assessment โดยมีกระบวนการประเมินตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. การระบุผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง โดยมีขอบเขตครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่าของ OR ทั้งหมด ได้แก่ การกิจกรรมต้นน้ำ กิจกรรมของ OR และกิจกรรมปลายน้ำ 
  2. การคัดเลือกพื้นที่ศึกษาประเมิน มีการใช้เกณฑ์การคัดเลือกผู้ค้าและลูกค้าที่มีความสำคัญเพื่อใช้ในการประเมิน 
  3. การประเมิน ประกอบด้วยเครื่องมือ 2 ขั้นตอน ได้แก่ การประเมินผลกระทบและการพึ่งพาธรรมชาติ (I&D) จาก ENCORE เพื่อประเมินผลกระทบและการพึ่งพาธรรมชาติของ OR และตัวกรองความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพของ WWF (WWF Risk Assessment) เพื่อประเมินและระบุความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความหลากหลายทางชีวภาพ 
  4. การติดตามผล ติดตาม ตรวจสอบและเปิดเผยความคืบหน้าของการดำเนินการตามแผนการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วย Biodiversity Management Plan (BMP) ของ OR 
  5. สร้างสรรค์การมีส่วนร่วมและสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงปัจจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความเสี่ยงจากการตัดไม้ทำลายป่าที่ได้จากการประเมินเพื่อปรับใช้ต่อไป 

          โดยผลการประเมินความเสี่ยงและมาตรการในการบรรเทาผลกระทบสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ใน การประเมินความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ปี 2567 

ผลการดำเนินงาน (Performance)

ความร่วมมือกับเครือข่ายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ 

          OR ร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรภายนอกเพื่อดำเนินงานตามแผนงานความมุ่งมั่นฟื้นฟูและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการบริการของระบบนิเวศ โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ รวมถึงระบบนิเวศป่าชายเลนและพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่นอกจากให้ประโยชน์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ยังส่งผลดีต่อการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Mitigation) ด้วยผลประโยชน์ทางด้านการกักเก็บคาร์บอน ในรูปแบบของคาร์บอนเครดิตที่มีการลงทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) รวมทั้งยังมีการส่งเสริมการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืนด้วยรูปแบบวนเกษตร (Agroforestry) เพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพตั้งแต่กิจกรรมต้นน้ำในการผลิตเมล็ดกาแฟที่ใช้ในธุรกิจ Café Amazon ของ OR ที่จัดจำหน่ายถึงมือลูกค้าที่เป็นกิจกรรมปลายน้ำของห่วงโซ่คุณค่า โดยมีความร่วมมือจนถึงปัจจุบันในโครงการดังต่อไปนี้

องค์กร / หน่วยงานภายนอก
ความร่วมมือด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
กรมป่าไม้
OR จัดทำโครงการปลูกป่าลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมารตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมป่าไม้ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจังหวัดเชียงรายและพะเยา เนื้อที่รวม 1,518.90 ไร่ เพื่อสนับสนุนการจ้างงานให้กับชุมชน และร่วมฟื้นฟูป่าเพื่อเพิ่มแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามธรรมชาติ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ OR ด้วยเป้าหมายการปลูกป่าจำนวน 10,000 ไร่ภายในปี 2573 โดยในปี 2567 OR ได้สนับสนุนการจัดการพื้นที่ป่าสงวนด้วยการบำรุงรักษาป่า การกำจัดวัชพืชให้กับกล้าไม้ตามหลักการทางวนศาสตร์ของกรมป่าไม้ ส่งผลให้มีอัตราการรอดตายของกล้าไม้ในพื้นที่โครงการอยู่ที่ร้อยละ 61 ถึง 99 และสนับสนุนการขึ้นทะเบียนโครงการตามระเบียบวิธีการ T-VER-S-METH-13-02 การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า และการเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าในระดับโครงการ (Reducing Emission from Deforestation and Forest Degradation and Enhancing Carbon Sequestration in Forest Area Project Level: P-REDD+) โดยมีการตรวจสอบจากผู้ประเมินภายนอกถึงความใช้ได้ของโครงการ รวมถึงการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาโครงการอย่างยั่งยืน
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง
OR สนับสนุนโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง โดยในปัจจุบันได้สนับสนุนการบำรุงรักษาป่าชุมชนจำนวน 8,100 ไร่ และได้ตรวจสอบความใช้ได้ของโครงการจากผู้ประเมินภายนอกเพื่อขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตด้วยมาตรฐานโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) โดยในปี 2567 ได้มีการติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การสนับสนุนชุมชนเพื่อจัดตั้งกองทุนดูแลป่าและกองทุนเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน จำนวน 75 หมู่บ้าน เพื่อให้ชุมชนมีงบประมาณในการจัดการป่าชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงการจัดการไฟป่าในพื้นที่ และการขึ้นทะเบียนป่าชุมชนในโครงการ T-VER เพื่อให้มีการวัดผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อความมั่นคงของราษฎรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างยั่งยืนมีเป้าหมายให้ประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่อนุรักษ์ ตามมาตรา 64 แห่ง พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และมาตรา 121 แห่ง พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 4.27 ล้านไร่ ได้มีส่วนร่วมในการปลูกป่า ดูแลป่า และอยู่ร่วมกับป่าแบบพึ่งพากัน เพิ่มความสมบูรณ์ เพิ่มพูนความหลากหลายทางชีวภาพ โดยจะสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรจากปัจจุบันในการปลูกพืชเชิงเดี่ยว สู่การสร้างป่าเชิงนิเวศ การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และระบบวนเกษตรอย่างยั่งยืน และเสริมด้วยต้นกาแฟใต้ร่มไม้ป่า สร้างป่า สร้างพื้นที่สีเขียว ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบนิเวศ ลดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ลดมลพิษทางอากาศ โดย OR จะสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ให้ประชาชนอยู่ได้ด้วยความมั่นคงสู่การเสริมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำผ่านการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน
โครงการคาร์บอนเครดิตของอุทยานคาเฟ่อเมซอน (Café Amazon Park) ตามมาตรฐานของ VERRA
OR มุ่งมั่นพัฒนาอุทยานคาเฟ่อเมซอน (Café Amazon Park) ในจังหวัดลำปาง บนพื้นที่ 615 ไร่ เพื่อการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำ โดยจะมีการทำศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม (R&D) เพื่อพัฒนาต้นกล้ากาแฟในการรองรับการขยายสาขาคาเฟ่อเมซอนทั้งในและต่างประเทศในระยะยาว พร้อมกันนี้ OR ยังได้เตรียมการโครงการคาร์บอนเครดิต VERRA ด้วยมาตรฐานการปลูกกาแฟโดยมีไม้ร่มเงาในพื้นที่เพื่อคำนวณคาร์บอนเครดิต ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายที่จะสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573 และสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2593
โครงการศึกษาและสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของอุทยานคาเฟ่อเมซอน (Café Amazon Park)
OR ได้ริเริ่มจัดทำโครงการสำรวจและศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่อุทยานคาเฟ่อเมซอน (Café Amazon Park) เพื่อเป็นข้อมูลฐานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Baseline) ในการพัฒนาพื้นที่โครงการอย่างยั่งยืน โดยในปี 2567 ได้เริ่มทำการสำรวจชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ป่าในพื้นที่ รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรดิน จากการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพครั้งที่ 1 พบจำนวนชนิดพันธุ์ทั้งหมด 381 ชนิด (species) ประกอบด้วยพืช 132 ชนิด (35%) แมลง 141 ชนิด (37%) นก 87 ชนิด (23%) สัตว์เลื้อยคลาน 11 ชนิด (3%) สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 10 ชนิด (2%) ซึ่งสามารถจัดกลุ่มจากประเมินสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (IUCN Red List) ได้ตามระดับความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ ได้แก่

– ใกล้สูญพันธุ์ Endangered: EN) จำนวน 1 ชนิด คือ ประดู่บ้าน (Pterocarpus macrocarpus Kurz)
– มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ Vulnerable: VU) ไม่พบชนิดพันธุ์
– ใกล้ถูกคุกคาม (Near-Threatened: NT) ไม่พบชนิดพันธุ์
– เป็นกังวลน้อยที่สุด (Least Concern: LC) จำนวน 194 ชนิด
– ยังไม่ได้รับการประเมิน (Not Evaluated: NE) จำนวน 184 ชนิด
– ข้อมูลไม่เพียงพอ (Data Deficient: DD) จำนวน 1 ชนิด

สำหรับสถานภาพทางการอนุรักษ์ในระดับประเทศไทยโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นกปรอดหัวโขน จัดเป็นสัตว์ที่อยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ในระดับประเทศ

เอกสารที่เกี่ยวข้อง