การจัดการของเสียและการรั่วไหลของน้ำมันและสารเคมี

ความสำคัญ

(GRI 3-3a., GRI 3-3b.)

              ปัญหาการจัดการของเสีย เป็นประเด็นที่มีความสำคัญในระดับสากล จากรายงาน Global Waste Management Outlook 2024 โดย United Nations Environment Program ร่วมกับ International Solid Waste Association (ISWA) คาดการณ์ว่าของเสียชุมชน (Municipal Solid Waste) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 3.8 พันล้านตันในปี 2593 ซึ่งส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายในการจัดการของเสียตั้งแต่การเก็บรวมรวมไปจนถึงการกำจัดอย่างมหาศาล รวมไปถึงสถานการณ์การเกิดของเสียอุตสาหกรรมในประเทศที่มีเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งหากไม่มีแนวทางในการจัดการที่เหมาะสมจากภาคอุตสาหกรรม อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คน

              ด้วยเหตุนี้ OR ซึ่งมีการใช้ทรัพยากรในการดำเนินธุรกิจและก่อให้เกิดของเสียในห่วงโซ่คุณค่า จึงตระหนักถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากของเสียตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของธุรกิจ  ดังนั้น การบริหารจัดการของเสีย รวมถึงการบริหารจัดการการหกรั่วไหลของน้ำมันและสารเคมี จึงเป็นประเด็นที่ OR ให้ความสำคัญ เพื่อการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนในแบบฉบับของ OR ผ่านแนวคิด OR SDG (Small, Diversified, Green) ภายใต้กรอบ Green ด้วยการสร้างโอกาสเพื่อสังคมสะอาด ส่งเสริมธุรกิจสีเขียว เพื่ออนาคตสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

เป้าหมายปี 2567

(GRI 3-3e.)

หมายเหตุ: *เป้าหมายปริมาณของเสียจากการสูญเสียอาหารที่ส่งไปกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบอย่างปลอดภัย (Food Loss) เป็น 0 ตัน เฉพาะพื้นที่ โรงคั่วกาแฟคาเฟ่อเมซอน โรงงานผงผสม โรงงานเบเกอรี่ และศูนย์กระจายสินค้าคาเฟ่อเมซอน

แนวทางการบริหารจัดการ

(GRI 3-3c., GRI 3-3d., GRI 3-3e., GRI 3-3f)

การจัดการของเสีย

              OR กําหนดเป้าหมายเชิงปริมาณเพื่อลดปริมาณของเสีย (Quantified targets to minimize waste) จากการดำเนินธุรกิจ โดยกำหนดเป้าหมายเพื่อลดปริมาณของเสียอันตรายและของเสียที่ไม่เป็นอันตรายที่ส่งไปกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบอย่างปลอดภัย (Reduce the waste sent to landfill) ให้เป็นศูนย์ในปี 2567 และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการของเสีย OR ได้ดําเนินการตรวจสอบและประเมินการจัดการขยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะ (Waste audits to identify opportunities for improving waste performance) ตามมาตรฐาน ISO 14001 นอกจากนี้ ยังได้มีการใช้งานระบบ SSHE Performance Database เพื่อระบุปริมาณและชนิดของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทำธุรกิจ และติดตามแนวโน้มปริมาณของเสียอีกด้วย

              OR กำหนดให้มีระบบปฏิบัติการคลังแบบบูรณาการ (Integrated Terminal Operation System: I-TOS) คือ ระบบที่เกิดขึ้นจากการบูรณาการระบบงานต่าง ๆ ภายในพื้นที่ปฏิบัติการคลัง  เช่น ISO, TPM, KM, PIC, SSHE เข้าไว้ในระบบเดียวกัน เพื่อลดกระบวนการทำงานที่ซ้ำซ้อน ซึ่งระบบ I-TOS ประกอบด้วยกระบวนการประเมินบริบทขององค์กร ระบุประเด็นภายในและนอกองค์กร ชี้บ่งโอกาส ความสูญเสีย และความเสี่ยง ตลอดจนดำเนินมาตรการตอบโต้ โดยขอบเขตประเด็นสำคัญ ครอบคลุมตลอดทั้งด้านความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระบวนการเหล่านี้สามารถช่วยป้องกัน ติดตาม ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดของเสียจากการดำเนินธุรกิจตามมาตรฐาน ISO14001

              OR เร่งลดของเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยผลักดันให้มีการลดการเกิดของเสียในกระบวนการผลิต (Actions plans to reduce waste generation) จากการดำเนินโครงการ Sustainable Coffee Project ผ่านการจัดอบรมในหลักสูตรที่ปรับให้เหมาะสมกับความต้องการของเกษตรกร ครอบคลุมการให้ความรู้ด้านการเพาะปลูกกาแฟ การดูแลบำรุงรักษา การเก็บเกี่ยวผลผลิต ตลอดจนกระบวนการแปรรูป ซึ่งจะช่วยปรับปรุงคุณภาพของวัตถุดิบที่เข้าสู่กระบวนการผลิต เป็นการช่วยลดของเสียที่จะเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตอีกทางหนึ่ง และปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำของเสียจากกระบวนการแปรรูปกาแฟ นำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจอีกด้วย

              สำหรับโครงการทางด้านการรีไซเคิล OR ได้ดำเนินโครงการ Scrap LPG Cylinder Recycling ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบูรณาการโครงการรีไซเคิลเพื่อลดขยะที่ส่งไปฝังกลบ (Integrate recycling programs to reduce the waste sent to landfill) โดยชิ้นส่วนของถังก๊าซหุงต้ม (LPG) ส่วนหู และฐานของถังก๊าซ ที่ไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบตามมาตรฐาน จะถูกนำไปรีไซเคิล เพื่อผลิตเป็นเม็ดเหล็กที่ใช้ในกระบวนการขัดผิว (Shot Blasting) ของการซ่อมสีถังก๊าซหุงต้มอีกครั้ง

              วัตถุดิบส่วนใหญ่ที่ใช้ในธุรกิจของ OR ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซ LPG น้ำมันพื้นฐานในการผลิตผลิตภัณฑ์ (Base Oil) เมล็ดกาแฟ ผงผสม และแป้งสำหรับผสมเบเกอรี่ ซึ่งจะถูกนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับลูกค้าและผู้บริโภคผ่านห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจของ OR ซึ่งส่งผลให้เกิดของเสียหลัก ได้แก่ กากตะกอนน้ำมัน วัสดุปนเปื้อนน้ำมัน กากกาแฟ แก้วพลาสติก เศษขนม และผงผสมที่คุณสมบัติไม่ผ่านการควบคุมคุณภาพ ซึ่งหากของเสียจากกระบวนการดำเนินธุรกิจทั้งหมดไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมอาจนําไปสู่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้

              กิจกรรมจากการดำเนินธุรกิจของ OR ก่อให้เกิดของเสียประเภทต่าง ๆ และ OR ได้มีการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการของเสียแต่ละประเภทที่เกิดขึ้น บูรณาการเข้ากับแต่ละสถานประกอบการของ OR  โดยรายละเอียดแสดงดังตาราง

ประเภทสถานประกอบการ
ประเภทของเสียหลักที่เกิดขึ้น
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
แนวทางการกำจัด

คลังน้ำมัน

  • กากตะกอนน้ำมัน และวัสดุปนเปื้อนน้ำมัน
  • ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
  • ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ
  • ดำเนินการโดยผู้รับกำจัดที่มีใบอนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด ควบคู่ไปกับแผนดำเนินการเพื่อลดการเกิดของของเสีย (Alongside actions plans to reduce waste generation)

ศูนย์กระจายสินค้าผลิตภัณฑ์หล่อลื่นบางปะกง

  • ฟิล์มแรป
  • ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
  • นำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ดำเนินการโดยผู้รับกำจัดที่มีใบอนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดการส่งของขยะไปที่หลุมฝังกลบ โดยการบูรณาการการรีไซเคิลในการกำจัดขยะ

ศูนย์บริการยานยนต์ FIT Auto

  1. กระป๋องบรรจุภัณฑ์ปนเปื้อน
  2. น้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว
  3. แบตเตอรี่ใช้แล้ว
  4. ยางรถยนต์ใช้แล้ว
  • ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
  • นำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ดำเนินการโดยผู้รับกำจัดที่มีใบอนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการจัดให้มีการอบรมเรื่องการลดขยะให้กับพนักงาน

PTT Station / ร้านคาเฟ่ อเมซอน

  1. ขยะทั่วไป
  2. ขยะประเภทรีไซเคิลได้ เช่น พลาสติก ขวดแก้ว
  • เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลง และพาหะของโรค
  • ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
  • นำเข้าสู่กระบวนการคัดแยกและรีไซเคิล

โรงคั่วกาแฟคาเฟ่อเมซอน

  • Food Waste ได้แก่ เยื่อหุ้มเมล็ดกาแฟ และ เมล็ดกาแฟเสื่อมสภาพ
  • เศษบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ ฟอยล์ เศษอะลูมิเนียม และบรรจุภัณฑ์แคปซูล
  • เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลง และพาหะของโรค
  • ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
  • Food waste นำไปเป็นวัตถุดิบในกระบวนการทำวัสดุปรับปรุงดิน
  • เศษบรรจุภัณฑ์ นำไปเข้าสู่กระบวนการคัดแยกและรีไซเคิล และนำไปเข้าสู่กระบวนการคัดแยกและรีไซเคิลเผาเป็นเชื้อเพลิงผสมเพื่อให้ได้พลังงาน

โรงงานเบเกอรี่และโรงงานผงผสม

  • Food Waste

    - เศษขนม

    - ผงเสื่อมสภาพ

    - เศษขนม ผัก ผลไม้

  • เศษบรรจุภัณฑ์

    - ขวดพลาสติก ขวดแก้ว

    - บรรจุภัณฑ์กระดาษ

  • เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลง และพาหะของโรค

  • ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

  • Food waste นำไปเป็นวัตถุดิบในกระบวนการทำวัสดุปรับปรุงดิน
  • เศษบรรจุภัณฑ์

ศูนย์กระจายสินค้าธุรกิจไลฟ์สไตล์

  • Food Waste วัตถุดิบที่ไม่เหมาะสมกับ
    การบริโภค เช่น เครื่องดื่ม นม ขนม ชา กาแฟ โกโก้

  • เศษบรรจุภัณฑ์ ประกอบด้วย ขวดพลาสติก ขวดแก้ว บรรจุภัณฑ์กระดาษ และ ซีลพลาสติก

  • เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลง และพาหะของโรค
  • ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
  • Food waste นำไปเป็นวัตถุดิบในกระบวนการทำวัสดุปรับปรุงดิน
  • เศษบรรจุภัณฑ์ นำไปเข้าสู่กระบวนการคัดแยกและรีไซเคิล และนำไปเข้าสู่กระบวนการเผาเป็นเชื้อเพลิงผสมเพื่อให้ได้พลังงาน

โรงซ่อมบำรุงถังก๊าซหุงต้ม ปตท.

  • ถังก๊าซหุงต้มที่ไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบทดสอบตามมาตรฐาน
  • น้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว
  • ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
  • ถังก๊าซหุงต้มที่ไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจสอบทดสอบตามมาตรฐาน นำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ดำเนินการโดยผู้รับกำจัดที่มีใบอนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด โดยการบูรณาการการรีไซเคิลในการกำจัดขยะ
  • น้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว นำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแปรรูปเป็นน้ำมันเตา (Alternative Fuel Oil)

              สำหรับของเสียที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ OR มีมาตรการควบคุมและตรวจสอบว่าของเสียเหล่านั้นได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธีโดยผู้รับกำจัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย ผู้รับกำจัดของเสียที่ได้รับใบอนุญาตจะทำการรวบรวมของเสียจากการดำเนินงาน โดยระบุวิธีการนำกลับมาใช้ใหม่หรือการรีไซเคิลอย่างชัดเจน เพื่อให้แน่ใจว่าของเสียจะถูกฝังกลบเป็นศูนย์ ซึ่งข้อมูลการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ โดยไม่กำจัดที่หลุมฝังกลบจะถูกรายงานและตรวจสอบโดยหน่วยงานภายนอกที่มีความน่าเชื่อถือ (Waste diversion from landfill is certified by an independent accredited body) ในปี 2567 OR สามารถบรรลุเป้าหมายนี้โดยไม่มีของเสียอันตรายและของเสียไม่อันตรายที่ส่งไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบ

              นอกเหนือจากโครงการลดและกำจัดของเสียจากกระบวนการ OR ยังมีการจัดการอบรม Lean Six Sigma Principle ให้กับพนักงาน (Waste reduction training provided to employees) โดยวัตถุประสงค์ของการจัดอบรมดังกล่าว เพื่อประยุกต์ใช้หลักการ Lean Six Sigma ในการช่วยลดค่าใช้จ่าย และส่งผลให้เกิดการผลิตและการลดการของเสียในกระบวนการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง

การรั่วไหลของน้ำมันและสารเคมี

              หนึ่งในธุรกิจของ OR เป็นธุรกิจน้ำมัน ดังนั้นอุบัติเหตุการรั่วไหลของน้ำมันและสารเคมีนั้นอาจเกิดขึ้นได้และส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบข้างและอาจส่งผลเสียต่อธุรกิจ OR จึงให้ความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมเพื่อตอบสนองและรับมือต่อเหตุการณ์รั่วไหลของน้ำมันและสารเคมี โดยติดตั้งอุปกรณ์ฉุกเฉินเพื่อตอบสนองกรณีเกิดการหกรั่วไหล รวมถึงการเช็คสภาพของอุปกรณ์ฉุกเฉินให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอยู่เสมอในทุกพื้นที่ และมีการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินเป็นประจำทุกปีสำหรับ คลังน้ำมัน คลังปิโตรเลียม และสถานีเติมน้ำมันอากาศยาน ทำให้ OR สามารถดำเนินการตอบสนองต่อเหตุการณ์รั่วไหลได้ทันที ยิ่งไปกว่านั้น OR ยังร่วมกับสมาชิกสมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน (IESG: Oil Industry Environmental Safety Group Association) ในการระดมทุนจัดซื้ออุปกรณ์ที่สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์รั่วไหลที่มีความรุนแรงมากขึ้นได้อีกด้วย

              นอกจากนี้ OR ได้นำแนวทางการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมกรณีเกิดการรั่วไหลลงสู่สิ่งแวดล้อมของ กลุ่ม ปตท. มาใช้ในการดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว โดยในปี 2567 สถานประกอบของ OR ไม่พบกรณีการรั่วไหลที่มีนัยสำคัญ

ผลการดำเนินงาน

การจัดการของเสีย

           เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเรื่องปริมาณของเสียที่ส่งไปกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบอย่างปลอดภัยต้องเท่ากับศูนย์ ด้วยเหตุนี้ ในปี 2567 OR จึงได้จัดให้มีโครงการ

    1. การดำเนินงานด้านการจัดการของเสียของกลุ่มธุรกิจถังก๊าซหุงต้ม ปตท. โรงซ่อมบำรุงถังก๊าซหุงต้ม ปตท. มีกระบวนการทำงานเริ่มด้วยกระบวนการคัดสภาพถัง และแยกเป็นประเภทงานซ่อม โดยกระบวนการซ่อมจะมีตั้งแต่การซ่อม Hot Work การตรวจสอบ Hydrostatic และ Expansion Test ตามอายุของถัง และเข้าสู่กระบวนการซ่อมสี หลังจากนั้นถังจะถูกนำไปประกอบวาล์ว สกีนข้อความและน้ำหนักข้างถัง และทำการทดสอบ Leak Test เมื่อทดสอบเสร็จแล้วจึงลำเลียงไปบรรจุก๊าซที่โรงบรรจุต่อไป ทั้งหมดนี้ก็เพื่อการดูแลถังให้มีมาตรฐานและปลอดภัย ผู้บริโภคจะได้มั่นใจในการใช้งาน

                 ทั้งนี้กระบวนการทดสอบและซ่อมบำรุงถังก๊าซหุงต้มนั้น ได้ก่อให้เกิดของเสียจากกระบวนการต่าง ๆ มากมาย และเพื่อเป็นการดำเนินงานให้ได้ผลสำเร็จตามเป้าหมายด้านการจัดการของเสีย OR จึงได้มีการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ดังนี้

        • โครงการ Scrap LPG Cylinder Recycling การนำถังก๊าซหุงต้มที่ชำรุดไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานจากกระบวนการตรวจสอบและทดสอบ ตลอดจนชิ้นส่วนโกร่งกำบังวาล์วและฐานถังเก่า ที่เกิดจากกระบวนการตัดเปลี่ยน ในกระบวนการซ่อมสร้าง (Hot work) มาแปรรูปเป็นเม็ดเหล็ก (Steel Shot) เพื่อนำกลับมาใช้งานในกระบวนการซ่อมสีถังก๊าซหุงต้ม
        • โครงการ Used Lube to Alternative Fuel Oil การขยายการจัดเก็บน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วไปยังโรงซ่อมและบำรุงถังก๊าซหุงต้ม ปตท. จำนวนทั้งหมด 3 แห่ง ได้แก่ โรงซ่อมและบำรุงถังก๊าซหุงต้ม จ.อยุธยา โรงซ่อมและบำรุงถังก๊าซหุงต้ม จ.ขอนแก่น และ โรงซ่อมและบำรุงถังก๊าซหุงต้ม จ.สงขลา โดยน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วที่ถูกใช้งานในกระบวนการของเครื่องจักรต่าง ๆ จะถูกรวบรวมและจัดเก็บ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการทางอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปเป็นน้ำมันเตา (Alternative Fuel Oil) สำหรับใช้เป็นน้ำมันทางเลือกให้แก่ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม
        • การศึกษาการแปรสภาพชิ้นส่วนวาล์วทองเหลือง โดยปัจจุบันวาล์วทองเหลืองที่เสื่อมสภาพ จะถูกประมูลขายเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่การรีไซเคิลเหล่านั้นมักพบอุปสรรคในการคัดแยกชิ้นส่วนที่ไม่จำเป็น เช่น สปริง ยาง เป็นต้น ออกจากทองเหลือง ส่งผลให้ทองเหลืองที่ได้จากการรีไซเคิลมักมีการปนเปื้อนและมีความบริสุทธิ์ต่ำ ดังนั้น OR จึงได้มีการศึกษาการแยกชิ้นส่วนวาล์วทองเหลืองขึ้น เพื่อทำการแยกองค์ประกอบภายในของวาล์วที่ไม่จำเป็นออก ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับทองเหลือง ในอุตสาหกรรมการรีไซเคิลต่อไป

                  2. OR ยังคงดำเนินโครงการ Zero Waste ใน PTT Station อย่างต่อเนื่อง เพื่อบริหารจัดการขยะ ณ แหล่งกำเนิดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีศูนย์ปฏิบัติการและเรียนรู้การจัดการขยะที่นำขยะที่เกิดขึ้นใน PTT Station มาใช้ประโยชน์ได้อย่างครบถ้วน เช่น โครงการผลิตปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร การทำน้ำหมักชีวภาพ ในปัจจุบันมีการดำเนินการโครงการดังกล่าวใน PTT Station สาขาต่าง ๆ ดังนี้

        • สาขาสารภี
        • สาขาแหลมฉบัง (ขาเข้า)
        • สาขาแหลมฉบัง (ขาออก)
        • สาขาวงแหวนตะวันตก
        • สาขาสระบุรี
        • สาขาพระราม 2 (ขาออก)
        • สาขาบางนา (ขาออก)
        • สาขาวิภาวดี 62
        • สาขาวังจันทร์

การรั่วไหลของสารเคมี

    1. OR เปิด “ศูนย์ฝึกอบรมการขจัดคราบน้ำมันรั่วไหล OR” ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย และการรักษาสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ

             OR เปิด “ศูนย์ฝึกอบรมการขจัดคราบน้ำมันรั่วไหล OR” (OR Oil Spill Response Training Center) อย่างเป็นทางการ ณ คลังน้ำมันสระบุรี อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยและการรักษาสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซของประเทศไทย

             “ศูนย์ฝึกอบรมการขจัดคราบน้ำมันรั่วไหล OR” นี้ ดำเนินการโดย สถาบันพัฒนาศักยภาพผู้นำและธุรกิจ (OR Academy) ของ OR ประกอบด้วยอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็น บ่อน้ำขนาดใหญ่ บนพื้นที่ 1,500 ตารางเมตร เพื่อใช้สำหรับการฝึกปฏิบัติ อุปกรณ์กักน้ำมัน (Boom) หลากหลายประเภท ความยาวรวมมากกว่า 100 เมตร อุปกรณ์ดูดคราบน้ำมัน (Skimmer) พร้อมเครื่องยนต์ต้นกำลังไฮดรอลิค อุปกรณ์ฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน (Sea spray) อุปกรณ์เก็บคราบน้ำมัน (Floating storage tank) ความจุ 1,200 ลิตร และอุปกรณ์สำหรับเก็บของเหลว (Fast tank) ขนาด 11,000 ลิตร และเรือปฏิบัติการเก็บคราบน้ำมัน เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ OR ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นปัญหาการรั่วไหลของน้ำมัน และด้วยพื้นที่คลังน้ำมันของ OR ที่ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำหลายแห่ง  OR จึงตระหนักถึงความสำคัญและการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน

รูปภาพการเปิดศูนย์ฝึกอบรมการขจัดคราบน้ำมันรั่วไหล OR

การเข้าร่วมเป็นพันธมิตร โครงการ “คนไทย ไร้ E-waste” และโครงการ “ทิ้ง E-waste เท่ากับปลูก”

                 OR เข้าร่วมเป็นพันธิมิตรโครงการ “คนไทย ไร้ E-waste” ครั้งแรกในปี 2566 ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัท แอดวานซ์ อิโฟร์ เซอร์วิซ จำกัด (มหาชน) (AIS) ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรกว่า 210 องค์กร โดยมีเจตนารมณ์มุ่งมั่น ให้ความสำคัญต่อการดูและสิ่งแวดล้อม สร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมในการช่วยลดภาวะโลกร้อน ไปสู่เป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

                 OR ได้ส่งเสริมให้พนักงานร่วมสร้างโอกาสเพื่อสังคมสะอาด โดยการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้งที่จุดรวบรวมที่ OR ณ บริเวณสำนักงานพระโขนง และสำนักงานใหญ่ บริเวณอาคาร Enco B เพื่อนำขยะเข้าสู่ระบบการจัดการอย่างถูกวิธี ช่วยลดมลพิษจและก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ ในปี 2567 OR สามารถรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์จากพนักงานได้ จำนวน 222 ชิ้น สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 12.38 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า

                 นอกจากนี้ ยังมีการเข้าร่วมโครงการ “ทิ้ง E-waste เท่ากับปลูก” ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ร่วมมือระหว่างบริษัท แอดวานซ์ อิโฟร์ เซอร์วิซ จำกัด (มหาชน) (AIS) ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร และกรุงเทพมหานคร เพื่อให้พันธมิตร นำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้งท่จุดรวบรวม โดยทุกๆ การทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ 1 ชิ้น จะได้รับต้นไม้ 1 จากกรุงเทพมหานคร เพื่อนำต้นไม้ไปปลูกสร้างพื้นที่สีเขียว และช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก โดยปี 2567 OR ได้มีการนำต้นไม้ที่ได้รับจากโครงการแจกให้กับพนักงานที่เข้าร่วมโครงการฯ พร้อมกับนำไปปลูกในพื้นที่กลุ่มโรงงานศูนย์ธุรกิจไลฟ์สไตล์ (OASYS) ซึ่งช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้เฉลี่ย 1,998 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่าต่อปี

โครงการ “บอกรักษ์เจ้าพระยา บอกลาขยะแม่น้ำ”

                OR และ GC ผนึกกำลังร่วมกับชุมชนบางน้ำผึ้ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำร่องโมเดลการจัดการขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาแบบยั่งยืน ณ วัดบางน้ำผึ้งนอก จ.สมุทรปราการ ภายใต้การลงนามบันทึกแสดงเจตจำนงว่าด้วยการจัดการขยะทะเล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในบริเวณปากแม่น้ำ ซึ่งริเริ่มโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย GC, OR, เจ้าหน้าที่ และจิตอาสา จะร่วมมือร่วมกันเก็บขยะ คัดแยกพลาสติกใช้แล้วออกจากขยะทั่วไปโดยเฉพาะขยะพลาสติก เพื่อป้องกันไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำขยะพลาสติกเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และอัพไซเคิลภายใต้ “GC YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม” สร้างผลิตภัณฑ์ Upcycling เพิ่มมูลค่า พร้อมส่งเสริมองค์ความรู้ความเข้าใจในการคัดแยก การบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี เพื่อเป็นต้นแบบขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ภายใต้ความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนที่จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยกันคัดแยกขยะ และนำขยะประเภทที่สามารถรีไซเคิลได้ อย่างเช่น พลาสติกใช้แล้วเข้าสู่ระบบการจัดการอย่างถูกวิธี เพื่อแก้ปัญหาขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยลดปริมาณขยะที่จะไหลออกสู่ทะเลอย่างยั่งยืน

                นอกจากนี้ OR และ GC ยังดำเนินการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการคัดแยกขยะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดจากโครงการ “บอกรักษ์เจ้าพระยา บอกลาขยะแม่น้ำ” ณ ศูนย์การเรียนรู้คุ้งบางกระเจ้า จ.สมุทรปราการ กิจกรรมหลักประกอบด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการคัดแยกขยะและการสร้างความตระหนักรู้ด้านการจัดการของเสียให้แก่ชุมชนและพนักงานคัดแยกขยะของ อบต.บางยอ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาขยะได้อย่างยั่งยืน