การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ความสำคัญ

(GRI 3-3a., GRI 3-3b.)

                ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นความท้าทายสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างมาก และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นทั่วโลก จากรายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2567 (Global Risks Report 2024) โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ความเสี่ยงมิติสิ่งแวดล้อม ถูกจัดอันดับเป็นความเสี่ยงโลกที่มีแนวโน้มจะรุนแรงในระยะยาวอีก 10 ปีข้างหน้า โดยอันดับ 1 ได้แก่ความเสี่ยงจากเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว

                ด้วยเหตุนี้ประเด็นดังกล่าวจึงถูกนำมาซึ่งการดำเนินงานด้านการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในมิติของการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการกำหนดเป้าหมายและกรอบการดำเนินงาน อาทิ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 29) ที่สอดคล้องกับข้อตกลง Paris Agreement ตลอดจนความมุ่งมั่นระดับประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกภาคีให้ข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับประชาคมโลก (National Determined Contribution – NDC) นอกจากนี้ ยังส่งผลถึงแรงกดดันจากภาคการเงิน และผู้มีส่วนได้เสียที่มีต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมให้ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการลดหรือกำจัดคาร์บอน (Decarbonization) ภายในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain)

                ทั้งนี้ OR ให้ความสำคัญและตระหนักถึงผลกระทบและความรุนแรงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นและเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองโลกจึงประกาศเจตนารมณ์ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและมุ่งมั่นในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านแนวคิด OR SDG ในด้าน ‘G-GREEN ’ส่งเสริมธุรกิจทุกประเภทให้เป็นธุรกิจสีเขียว สนับสนุนให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนผ่านกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2573 ตลอดจนมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593

เป้าหมายปี 2567

(GRI 3-3e.)

แนวทางการบริหารจัดการ

(GRI 3-3c., GRI 3-3d., GRI 3-3e., GRI 3-3f)

                ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในระดับสากล ด้วยเหตุนี้ OR จึงได้ตระหนักถึงผลกระทบและจัดให้มีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผนวกเข้าเป็นหนึ่งในเป้าหมายระยะยาวขององค์กร OR 2030 Goals ในมิติ Healthy Environment โดย OR ได้กำหนดแนวทางบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สอดคล้องกับแนวทางของ Task Force on Climate-related Financial Disclosure (TCFD)   ตั้งแต่การแต่งตั้งหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินการ การประเมินความเสี่ยงและการบริหารจัดการความเสี่ยง ตลอดจนการตั้งเป้าหมายและการกำหนดตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง

การกำกับดูแลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

                  นอกจากนี้ OR ยังมีการกำหนดบทบาทหน้าที่และโครงสร้างการกำกับดูแลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้เกิดการผลักดันและกำกับดูแลการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม โดยบทบาทหน้าที่และโครงสร้างการกำกับดูแลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ OR มีรายละเอียดดังนี้

โครงสร้าง
การกำกับดูแลฯ

บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ

ความถี่
ในการประชุม

 

 

คณะกรรมการ

(OR Board of Directors)

  • กำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงาน และอนุมัติการกำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงานร่วมกันภายในองค์กร (Corporate KPIs ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ติดตามตรวจสอบความก้าวหน้าในการดำเนินกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแผนงานที่สำคัญ (Key Action Plans) เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัท

รายไตรมาส

คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการพัฒนาที่ยั่งยืน 

(OR CGS)

  • กำหนดและทบทวนนโยบายและแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมติดตามผลลัพธ์ รวมถึงบูรณาการการปฏิบัติงานตามกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้มีความสอดคล้องกับนโยบายที่สำคัญของบริษัท
  • กำหนดและกำกับดูแลกลยุทธ์ความเสี่ยงและโอกาสด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับปฏิบัติการ

รายไตรมาส

คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร

(OR ERMC)

  • กำหนดและทบทวนนโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยง กำกับดูแลการดำเนินการบริหารจัดการความเสี่ยงองค์กร ซึ่งรวมไปถึงความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเมินและทบทวนปัจจัยความเสี่ยงทั้งภายในและนอกองค์กรที่มีผลกระทบต่อเป้าหมายขององค์กร ทั้งนี้ เพื่อกำหนดมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความเหมาะสมกับบริบทขององค์กร

รายไตรมาส

คณะกรรมการจัดการ

(ORMC)

  • บริหารจัดการการดำเนินการให้เป็นไปตามทิศทางด้านความยั่งยืน
  • เป็นผู้นำสูงสุดในการสนับสนุนการดำเนินการที่จำเป็น เพื่อให้กระบวนการทั้งหมดสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

ตามความเหมาะสม

คณะกรรมการบริหารความร่วมมือสู่การดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน 
(OR SD Committee)
  • ขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินการในระดับปฏิบัติการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามกลยุทธด้านความยั่งยืน และพิจารณาอนุมัติรายงานความยั่งยืนประจำปีของ OR
  • อนุมัติแผนกลยุทธ์ แผนธุรกิจ และการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนให้สอดคล้องกับนโยบายของ PTT Group ตามมาตรฐานความยั่งยืนทั้งในและต่างประเทศ

รายไตรมาส

คณะทำงาน

(คณะทำงานจัดการพลังงาน, คณะทำงานการลดการปล่อยคาร์บอน, 

คณะทำงานการดำเนินธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน)

  • ส่งเสริมและขับเคลื่อนการดำเนินการให้สอดรับตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงคณะทำงานหรือระดับปฏิบัติการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย OR’s 2030 Goal ด้านสิ่งแวดล้อม (Healthy Environment) และเป็นไปตามกรอบการดำเนินงาน TCFD

รายไตรมาส หรือ ตามความเหมาะสม

กลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

                   เพื่อมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจของ OR ตามเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2573 และ การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 OR ได้พิจารณาตั้งเป้าหมายโดยอ้างอิงแนวทางตามหลักการกำหนดเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์หรือ SBTi (Science Based Target initiative: SBTi) และกำหนดกลยุทธ์ตามหลัก 3Rs ในการดำเนินงาน ได้แก่

      1. Reduce (Own Greenhouse Gas Emissions): ขยับสู่เป้าหมาย OR Net Zero จากการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยตนเอง
      2. Remove (Residual Greenhouse Gas Emissions): ขจัดก๊าซเรือนกระจกโดยสนับสนุนกิจกรรมการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก
      3. Reinforce (GREEN Portfolio of business and Investment): ขยายสัดส่วนธุรกิจและการลงทุนสีเขียว

                   ทั้งนี้ OR มีการกำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน (KPI) ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผนวกเข้ากับตัวชี้วัดผลการดำเนินงานขององค์กร (Corporate KPI)  และมีการติดตาม วิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและรายงานผลต่อกลุ่ม ปตท. อย่างต่อเนื่อง

รูปภาพกลยุทธ์ 3Rs

                 นอกเหนือจากกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ OR ยังมีแนวทางการบริหารจัดการคู่ค้าและลูกค้า ซึ่งใช้สำหรับการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Upstream & Downstream Management) ผ่านแนวทางการบริหารจัดการโดยมีรายละเอียดดังนี้

      • ส่งเสริมให้ต้นน้ำและปลายน้ำมีการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
      • สื่อสารความมุ่งมั่นของ OR รวมถึงข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปยังต้นน้ำและปลายน้ำ
      • มั่นใจถึงการปรับตัวและความยืดหยุ่นของ OR ในการบริหารจัดการต่อความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรวมถึงคว้าโอกาสที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำอันเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่คุณค่า

การบริหารจัดการความเสี่ยง (Climate-related Risk Management)

                  OR ตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อองค์กร เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภครวมทั้งการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ ภาษีคาร์บอน  ด้วยเหตุดังกล่าว OR จึงบูรณาการความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ากับการบริหารจัดการความเสี่ยงระดับองค์กรเพื่อประเมินระดับผลกระทบและจัดหาแนวทางป้องกันหรือบรรเทาความเสี่ยงและการแสวงหาโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมหรือกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ OR จึงกำหนดแนวทางเพื่อรองรับความเสี่ยงหรือโอกาสที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการศึกษาข้อกำหนด กฎหมายอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจในประเทศไทยและต่างประเทศ การกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร และนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นต้น

                  นอกจากนี้ OR ยังจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงทางกายภาพและทางด้านการเปลี่ยนผ่าน โดยวิเคราะห์ทั้งในเชิงคุณภาพ (Qualitative Analysis) และ เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) ครอบคลุมตั้งแต่สถานประกอบกิจการของ OR (Own Operations) รวมถึงห่วงโซ่คุณค่าต้นน้ำถึงปลายน้ำ รายละเอียดของการประเมินความเสี่ยงดังกล่าว สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ ใน OR Task Force on Climate-related Financial Disclosures (TCFD) Report 2024

การตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัด

                  OR มีเป้าหมายในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ เพื่อมุ่งมั่นในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (GHG Emission Scope 1) และก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม (GHG Emission Scope 2) ให้ได้ 1 ใน 3 จากการดำเนินธุรกิจเมื่อเทียบกับปี 2565 ภายในปี 2573 และมีความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี 2573 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2593

OR มีแผนงานเพื่อดำเนินการให้บรรลุได้ตามเป้าหมาย ดังต่อไปนี้

1. การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change)

    • การปลูกป่าจำนวน 10,000 ไร่ ภายในปี 2573
    • โครงการ T-VER Carbon Credit จากโครงการ Solar Rooftop และ โครงการ Green Travel with Biofuel

2. การเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน Energy & Utilities Efficiency

    • เนื่องจาก OR ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นแหล่งพลังงานหลัก ดังนั้น OR จึงมุ่งเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในสถานประกอบการของ OR โดยกำหนดให้ติดตั้ง Solar Rooftop ที่สถานประกอบการ เช่น คลังปิโตรเลียม กลุ่มโรงงานภายในศูนย์ธุรกิจไลฟ์สไตล์ พื้นที่ PTT Station ร้าน Café Amazon และโรงงานซ่อมบำรุงถังก๊าซหุงต้ม และกลุ่มอาคารสำนักงาน ให้ได้ 04 MWp ภายในปี 2573
    • นอกจากการติดตั้ง Solar Rooftop ภายในสถานประกอบการของ OR เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนแล้วนั้น OR ยังสนับสนุนและส่งเสริมให้คู่ค้า (Dealer) ของ PTT Station รวมถึงลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงแบบดั้งเดิมไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นการช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากห่วงโซ่คุณค่า (Scope 3 GHG Emissions) อีกด้วย
    • ดำเนินการจัดหาพลังงานหมุนเวียนจากภายนอก ในรูปแบบใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate, REC) เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน

3. การลดปริมาณขยะและของเสียให้สอดคล้องตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

    • การลดปริมาณขยะ ลดการใช้ทรัพยากรใหม่ (Virgin Material) นำขยะกลับมา Reuse และ Recycle จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในส่วนของการผลิตใหม่และการกำจัดหรือทำลาย
    • เพิ่มปริมาณการใช้วัสดุที่มิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน (Sustainable Packaging)

สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมการจัดการประเด็นด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของบริษัท คลิก

ผลการดำเนินงาน

การมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

การมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

          OR มีพันธกิจในการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยในปี 2566 OR ได้รับการขึ้นทะเบียนโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน): Thailand Greenhouse Gas Management Organization (Public Organization) หรือ TGO ซึ่งเป็นผู้ให้การขึ้นทะเบียนและรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ OR สามารถลดหรือกักเก็บได้ โดยในปี 2566 OR ได้มีการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการ T-VER ดังนี้

    • โครงการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพทดแทนน้ำมันดีเซล/เบนซินชนิดพื้นฐาน หรือ โครงการ Green Travel with Biofuel: OR ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยได้จัดทำโครงการ Green Travel with Biofuel เพื่อเชิญชวนให้ลูกค้าเปลี่ยนมาใช้งานน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการขนส่งได้ โดยโครงการนี้ได้ดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2566 และในปี 2567 นี้ได้เปิดให้ลูกค้า Blueplus+ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการลงทะเบียนร่วมโครงการได้เป็นปีที่ 2
    • โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา ระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และระยะที่ 3
      (Phase I,II,III): OR ได้ผลักดันให้มีการติดตั้ง Solar Rooftop ทั้งภายในสถานประกอบการของบริษัท รวมถึงสถานประกอบการของคู่ค้า เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด นอกจากนี้ ยังได้นำโครงการเหล่านี้ขึ้นทะเบียนเป็นโครงการ T-VER เพื่อขอการรับรองคาร์บอนเครดิตในอนาคตอีกด้วย
    • โครงการปลูกป่า: OR มีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อเป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก โดย OR ได้ผลักดันให้มีการดำเนินการขึ้นทะเบียนโครงการ และขอการรับรองเครดิต โดยปัจจุบัน OR ดำเนินการปลูกป่าไปแล้วทั้งสิ้น 9,600 ไร่ และ รับการขึ้นทะเบียนขอรับรองทั้งสิ้น 280 ไร่

          ดังนั้นในฐานะที่ OR เป็นหนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจพลังงานของประเทศไทย จึงได้ให้ความรับผิดชอบ และมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควบคู่กับการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กรและระดับประเทศ เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) อย่างมีประสิทธิภาพและอย่างยั่งยืน

การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

                  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญโดยเปลี่ยนแนวทางการดำเนินชีวิตจากการใช้พลังงานฟอสซิลมาเป็นพลังงานสะอาดเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) เป็นทางเลือกใหม่ของผู้บริโภคและเข้ามาแทนการใช้น้ำมัน
                  จากโอกาสของการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า OR เล็งเห็นถึงโอกาสจึงได้ขยายเครือข่ายสถานีชาร์จ EV Station PluZ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทั้งใน PTT Station และ PTT LPG Auto Station ครอบคลุมทั่วประเทศในทุกเส้นทางหลัก ชุมชน แหล่งท่องเที่ยว หรือพื้นที่ที่มีศักยภาพ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหาร และอาคารสำนักงาน โดย ในปี 2567 มีการติดตั้งและเปิดให้บริการสถานีชาร์จ EV Station PluZ แล้วติดตั้งสะสมรวมทั้งหมด 1,194 แห่ง หรือ 2,356 หัวชาร์จ (DC Connector) ครอบคลุมทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมุ่งสร้าง Physical Platform ให้เป็น OR space community ร่วมกับการทำ OR mobility solution โดยมุ่งมั่นสร้างโอกาสเพื่อสังคมสะอาด ผ่านการขยายเครือข่ายสถานี EV Charging รูปแบบใหม่ Charging Hub 10 สาขาภายในปี 2567 รวมถึงมีแผนขยาย Charging Hub เพิ่มเติมในเสน้ทางหลักและพื้นที่สำคัญทั่วประเทศ เช่น เช่น สาขาสีคิ้ว จ.นครราชสีมา สาขาขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร สาขาท่าแซะ จ.ชุมพร สาขาร่วมใจบริการ (2002) จ.บุรีรัมย์ สาขาบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น สาขาวชิรบารมี จ.พิจิตร สาขาไชยา (ขาขึ้น) จ.สุราษฎร์ธานี และสาขาแยกหาดจอมเทียน จ.ชลบุรี
                  หนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้เกิดโครงการที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ OR จึงได้ร่วมมือกับองค์กรที่หลากหลายเพื่อทำให้เกิดโครงการมากมาย ได้แก่ การเดินหน้าโครงการความร่วมมือ “Swap & Go – Universal Battery Swapping Network Expansion Empowered by OR” โดยการขยายเครือข่ายแพลตฟอร์มสถานีสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของสวอพ แอนด์ โก ภายใน PTT Station ตอบโจทย์การเดินทางที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็ว เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ (Seamless Mobility) โดยขยายจุดให้บริการสถานีสลับแบตเตอรี่ครอบคลุมกรุงเทพฯ ปริมณฑลกว่า 100 แห่งในปี 2567 และบริการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงผ่านเครือข่ายสถานีบริการ PTT Station เพื่อเพิ่มสัดส่วนการนวัตกรรมพลังงานสะอาดและเป็นทางเลือกของผู้บริโภคในการประหยัดค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงาน โดยสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าทุกมิติ เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเติบโตไปพร้อมกัน

รูปภาพความร่วมมือ ในโครงการ Swap & Go – Universal Battery Swapping Network Expansion Empowered by OR

                  ในขณะเดียวกัน FIT Auto ซึ่งถือเป็นหนึ่งในธุรกิจของกลุ่ม Non-Oil Business ให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายในรูปแบบ One-Stop-Service ได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่าน โดยปัจจุบัน FIT Auto มีศูนย์อบรมเชิงปฏิบัติการ FIT Auto Academy ณ สถาบันพัฒนาศักยภาพผู้นำและธุรกิจ (OR Academy) เพื่อพัฒนาทักษะช่างให้มีศักยภาพในการปฎิบัติงานเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการให้บริการซ่อมบำรุงตามระยะทาง (Light maintenance) สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV)
                  นอกเหนือจากนั้น OR ยังร่วมมือกับ บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ “WICE” ในการร่วมกันศึกษาและสร้างต้นแบบ (Prototype) “กรีน โลจิสติกส์” (Green Logistics) สำหรับขนส่งสินค้าประเภทเมล็ดกาแฟดิบเพื่อทดลองระบบการขนส่งสินค้าระยะไกล (Long Haul) ด้วยยานยนต์เชื้อเพลิงไฟฟ้า EV Truck โดยใช้เครือข่ายสถานีชาร์จ EV Station PluZ ของ OR ในเส้นทาง “Green Coffee Bean Route” เป็นเจ้าแรกของประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในกิจกรรมการขนส่งสินค้า รวมทั้งเป็นการนำร่องโครงการตามนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และ สำหรับการขนส่งเบเกอรี่จากโรงงานไปยังร้านคาเฟ่อเมซอนในภาคกลาง และภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศ OR ขยายความร่วมมือกับ บมจ.เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ หรือ SCGJWD ยกระดับการขนส่งแบบรักษ์โลกด้วย Green Logistics Solution นำเสนอนวัตกรรมขนส่งเย็นรูปแบบใหม่ผ่านเครือข่ายขนส่งที่ใหญ่ที่สุด ตอบโจทย์การขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิทั่วประเทศ

                อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่:

โครงการการจัดการพลังงาน

                  เป้าหมาย OR 2030 Goals มิติด้าน Healthy Environment นั้น OR มุ่งมั่นที่จะลดสัดส่วนการใช้พลังงานแบบดั้งเดิมลงให้ได้ 1 ใน 3 ภายในปี 2573 (เมื่อเทียบกับปีฐาน 2565) โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในสถานประกอบการของ ดังนั้น OR จึงได้มีการจัดตั้งคณะทำงานการจัดการพลังงาน (Energy Task Force) ขึ้น เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ขับเคลื่อน และแบ่งปันองค์ความรู้ เพื่อให้แผนการดำเนินงานด้านพลังงานของ OR บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้
                  OR ได้ดำเนินการทวนสอบการจัดการด้านพลังงานโดยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภายนอก เพื่อระบุโอกาสในการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy audits to identify opportunities for improving energy performance) และจัดทำโครงการประหยัดพลังงานในสถานประกอบการของ OR เพื่อประเมินและติดตามความคืบหน้าในการลดการใช้พลังงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 โดยในปี 2567 นี้ ได้ดำเนินการเพิ่มในพื้นที่โรงซ่อมสีถังก๊าซหุงต้มสงขลา ทั้งนี้แผนการดำเนินงาน ความคืบหน้า แผนงานในอนาคต และงบประมาณของโครงการต่าง ๆ นี้ จะถูกนำมาวิเคราะห์และรายงาน (Evaluation of progress in reducing energy consumption) ต่อคณะทำงานการจัดการพลังงาน (Energy Task Force) เป็นประจำทุกไตรมาส ซึ่งในปี 2567 พื้นที่สำนักงานพระโขนงสามารถลดการใช้พลังงานได้ 550 GJ (630,000 บาท) และกลุ่มโรงงานภายในศูนย์ธุรกิจไลฟ์สไตล์สามารถลดการใช้พลังงานได้ 5,900 GJ (6,850,000 บาท) โดยทั้งสองพื้นที่สามารถลดการใช้พลังงานของ OR ได้ถึง 2% โดยมีตัวอย่างโครงการหรือการดำเนินการเพื่อลดปริมาณการใช้พลังงาน (Actions to reduce the amount of energy use) และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อาทิ การปรับปรุงระบบ BAS (Building Automation System) ณ อาคารสำนักงานพระโขนง การปรับปรุงประสิทธิภาพในระบบผลิตน้ำเย็น (Chiller system) ให้เหมาะสมกับกระบวนการผลิต ณ -กลุ่มโรงงานภายในศูนย์ธุรกิจไลฟ์สไตล์ เป็นต้น
                  เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย OR 2030 Goals ตามเป้าหมาย Healthy Environment OR ขับเคลื่อนผลการดำเนินงานโดยการกำหนดเป้าหมายเชิงปริมาณ เพื่อบริหารจัดการด้านการประหยัดพลังงานหรือลดการใช้พลังงาน (Quantified targets to address energy savings) โดยใช้เป้าหมาย QSHE เป็นตัวขับเคลื่อน เช่น ความเข้มข้นของการใช้พลังงานในสถานประกอบการ เป็นต้น
                  โดยเป้าหมายดังกล่าวมีการรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการ OR QSHE GMC เป็นประจำทุกไตรมาส นอกจากนี้ OR ยังได้กำหนดตัวชี้วัดการดำเนินงาน (KPI) ประจำปี โดยเริ่มจากการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน และการติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อในการติดตามผลการใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานสีเขียว นอกจากนี้ OR ยังส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในสถานประกอบการผ่านใบรับรองพลังงานหมุนเวียนเพื่ออ้างสิทธิ์การใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy Certificate (REC)
ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานสีเขียว ปัจจุบัน OR ใช้พลังงานทดแทนจาก Solar Panel และใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) ในสถานประกอบการ โดยมีรายละเอียดดังนี้

สถานประกอบการของ OR

รูปภาพ สถานประกอบการของ OR ที่ มีการซื้อ Renewable Certificate (REC) ในสถานประกอบการ

                  ในปี 2567 OR ได้มีการติดตั้ง Solar Rooftop ในสถานประกอบการของ OR นับเป็นก้าวสำคัญในเส้นทางสู่การใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานสีเขียว (Use of clean or green energy) โดยโครงการนี้เพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งสะสม 17.50 MWp ด้วยเงินลงทุน 502 ล้านบาท (Investments in innovation or R&D to decrease energy consumption) ซึ่งไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราในแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน แต่ยังส่งผลให้สัดส่วนการใช้พลังงานลดลง 15.34 GJ ต่อ EBITDA 1 ล้านบาท
                  นอกจากนี้ OR ยังร่วมมือกับกลุ่ม ปตท. ผ่านคณะทำงาน PTT Group Net Zero Task Force หรือ G-NET และกลุ่มคณะทำงานย่อย Renewable Energy for Operation โดยมีเป้าหมายเพื่อการวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทน (R&D) และศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุนพลังงานใหม่ ๆ อีกด้วย (Investments in innovation or R&D to decrease energy consumption)
                  ไม่เพียงแต่ส่งเสริมการพัฒนาการจัดการพลังงานผ่านโครงการและความร่วมมือจากภาคส่วนอื่น ๆ เท่านั้น แต่ OR ยังมีการส่งเสริมและฝึกอบรมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการลดปริมาณการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy efficiency training provided to employees to raise awareness of energy consumption reduction) โดยมีรายละเอียดดังนี้

    • สำหรับพนักงานกลุ่มเป้าหมายและพนักงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติงานโดยตรง: การฝึกอบรมหัวข้อของแนวทางการวัดผลสำหรับการประเมินผลการใช้พลังงานและการประหยัดพลังงานในระบบอัดอากาศและระบบทำความเย็น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดปริมาณการใช้พลังงาน
    • สำหรับพนักงานทุกคน: ส่งเสริมให้พนักงานตระหนักถึงการประหยัดพลังงานและลดการใช้พลังงานผ่านสื่อประชาสัมพันธ์และอีเมล เช่น แคมเปญ 60+ Earth Hour เพื่อประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เอกสารที่เกี่ยวข้อง