การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังคงเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของภาคส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงระดับสากล อันเนื่องมาจากผลกระทบที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ประกอบกับความเข้มข้นของมาตรการต่าง ๆ ที่ถือกำเนิดขึ้น ตลอดจนแรงผลักดันในการสร้างความร่วมมือ เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
OR ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีก ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีความสำคัญทั้งต่อ OR และผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า ในการนี้ OR จึงได้กำหนดกลยุทธ์และแผนการดำเนินงาน OR SDG (S – Small, D – Diversified, G – Green) หรือการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนในแบบฉบับของ OR เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย OR 2030 Goals ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการสร้างโอกาสเพื่อสังคมสะอาด ส่งเสริมธุรกิจสีเขียว เพื่ออนาคตสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Green) โดยมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2573 ตลอดจนมุ่งสู่การบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการดำเนินธุรกิจ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นส่วนหนึ่งของตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน (KPI) ของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้บริหารระดับสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายองค์กร หรือ OR 2030 Goals หัวข้อ “Healthy Environment” (คิดเป็นร้อยละ 4 จากทั้งหมด) ซึ่งหมายรวมถึงหัวข้อการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 1 และ 2 เพื่อเป็นการเน้นย้ำให้แน่ใจว่าประเด็นดังกล่าว ผนวกเข้ากับการบริหารจัดการและมีการประเมินรวมถึงติดตามผลการดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ
OR ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีก เป็นบริษัท Flagship ของกลุ่ม ปตท. มุ่งแสวงหาโอกาสใหม่ในการดำเนินธุรกิจ คิดค้นและพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการ ต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สอดรับกับนโยบายของประเทศไทยและระดับสากล ในการร่วมกันลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนที่มากขึ้น การแสวงหาทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่น้อยลง อาทิ การสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Station PluZ) ทั่วประเทศ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในการเลือกซื้อกาแฟที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่น้อยลง (Low Carbon Coffee) อีกทั้งมีแผนรับรองสำหรับเตรียมการต่อความเสี่ยงด้านกายภาพและด้านการเปลี่ยนผ่านที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งหมดนี้เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสของ OR ในการขยายการเติบโตของธุรกิจ พร้อมกับการยกระดับภาพลักษณ์ของแบรนด์ OR ให้เป็นที่ดึงดูดนักลงทุนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและต้องการที่จะสนับสนุนธุรกิจอย่างยั่งยืน
OR จัดทำกลยุทธ์ด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Strategy) เป็นไปตาม 3Rs Strategy ได้แก่ Reduce Remove และ Reinforce รวมถึงกำหนดโครงสร้างการกำกับดูแลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อให้เกิดการผลักดันและกำกับดูแลการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการประเมินความเสี่ยงและโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งครอบคลุมกระบวนการวิเคราะห์ภายใต้สมติฐานต่าง ๆ (Climate Scenario Analysis) ตามแนวทางของ Task Force on Climate-related Financial Disclosure (TCFD) และเพื่อทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งทางกายภาพ (Physical Risk) และความเสี่ยงระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Transition Risk) เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) โดยอ้างอิงแนวทางตามหลักการกำหนดเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์หรือ SBTi (Science-Based Target Initiative)
จากเป้าหมาย OR 2030 Goals ด้าน Healthy Environment OR ได้ผลักดันการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ภายในสถานประกอบการของ OR เช่น การติดตั้ง Solar Rooftop พื้นที่ PTT Station กลุ่มโรงงานธุรกิจไลฟ์สไตล์ (OASYS) คลังปิโตรเลียม/น้ำมัน/ก๊าซ ร้าน Café Amazon โรงซ่อมสี/บรรจุถังก๊าซหุงต้ม และกลุ่มอาคารสำนักงาน เป็นต้น โดยตั้งแต่ปี 2565 – 2567 มีโครงการจำนวนสะสม 228 แห่ง และมีแผนที่จะขยายไปยังสาขาอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง
นอกจากการติดตั้ง Solar Rooftop ภายในสถานประกอบการของ OR เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนแล้ว OR ยังสนับสนุนและส่งเสริมให้คู่ค้า (Dealer) ของ PTT Station รวมถึงลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงแบบดั้งเดิมไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นการช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกใน Scope 3 อีกด้วย โดยปัจจุบันมีผลการดำเนินงานดังนี้
OR มุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 ไปพร้อมกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมีการตั้งเป้าหมายพื้นที่ในการปลูกป่าเพื่อช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ให้ครอบคลุม 10,000 ไร่ ในปี 2573 ภายใต้ความร่วมมือกับกรมป่าไม้ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและพะเยา ปัจจุบันในปี 2567 ได้ดำเนินการปลูกและบำรุงรักษาป่าแล้วรวมพื้นที่ 1,500 ไร่ โดยมีพื้นที่ 280 ไร่ ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วเสร็จ ซึ่งสามารถนำมาใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ได้
นอกจากนี้ยังดำเนินโครงการบำรุงรักษาป่าชุมชน ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง โดยจะเป็นการสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้ชุมชนในพื้นที่ดำเนินการดูแลและรักษาป่าชุมชน รวมพื้นที่ 8,100 ไร่ กระจายอยู่ใน 4 จังหวัด ทั้งเชียงใหม่ เชียงรายอำนาจเจริญ และยโสธร ซึ่งปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับจากโครงการนี้ จะนำไปชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ OR ต่อไป
รูปภาพ โครงการปลูกป่า 10,000 ไร่ของ OR
PTT Station Flagship วิภาวดีรังสิต 62 ใช้แนวคิด “Green” เพื่อให้เป็นสถานีต้นแบบในอนาคตของ Green Station ที่แสดงตัวตนผ่าน Ecosystem เครือข่ายธุรกิจของ OR
รูปภาพ PTT Station แฟลกชิป ริมถนนวิภาวดี 62
หนึ่งจุดเด่นที่สำคัญทางด้าน G-GREEN คือ การเป็นพื้นที่นำร่องในด้านการใช้พลังงานหมุนเวียน 100 % ภายในสถานีบริการ ผ่านการใช้พลังงานทางเลือกจากแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงถึง 584 กิโลวัตต์สูงสุด (kWp) พร้อมระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System หรือ BESS) ด้วยความจุ 160 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ที่ทำให้ PTT Station สามารถใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเป็นความร่วมมือในการพัฒนาระหว่าง OR และ Nuovo Plus ประกอบกับการซื้อพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการใช้เอกสารสิทธิ์ เพื่อยืนยันการใช้พลังงานหมุนเวียนหรือ REC (Renewable Energy Certificate) ให้ครอบคลุมและมั่นใจว่าพลังงานที่ใช้ในสถานีบริการเป็นพลังงานหมุนเวียน 100 % นอกจากนี้ ร้าน Café Amazon ได้มีการออกแบบรูปแบบร้านให้มีการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในหลากหลายมิติ ส่งผลให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ระดับ Gold
รูปภาพ Solar Rooftop และ Battery Energy Storage System และ LEED Certification ของร้าน Café Amazon
นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินงานอื่น ๆ ที่สำคัญ เพื่อช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Scope 3) ภายในพื้นที่ PTT Station Flagship วิภาวดีรังสิต 62 ได้แก่
การจัดการของเสียครบวงจร เช่น การนำน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วและกระป๋องน้ำมันหล่อลื่นจาก Fit Auto เข้าสู่กระบวน Recycle 100% เก้าอี้ม้านั่งใน PTT Station ซึ่งผลิตมาจากส่วนผสมของพลาสติก Recycle ชนิด PE แบบเดียวกับกระป๋องน้ำมันหล่อลื่น การรวบรวมขยะเศษอาหารจากร้านค้าปลีกเข้าสู่เครื่องย่อยสลายขยะเศษอาหารอัตโนมัติเพื่อผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์และนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป การรวบรวมขยะที่สามารถ Recycle ได้ จากถัง แยก แลก ยิ้ม และร้านค้าปลีกเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีผ่านโครงการ แยก แลก ยิ้ม x GC Youเทิร์น อีกทั้งยังมีการลงทุนติดตั้งระบบรีไซเคิลน้ำทิ้งแบบ Ultra Filtration ที่ไม่มีการใช้สารเคมี โดยน้ำที่ผ่านระบบรีไซเคิลนนั้นจะผ่านมาตรฐานของ US EPA ซึ่งเป็นน้ำที่สามารถใช้รดน้ำต้นไม้ได้ เป็นต้น
ภาพรวมของธุรกิจอื่น ๆ เพิ่มเติมในสถานี PTT Station Flagship วิภาวดีรังสิต 62 เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน เช่น การติดตั้ง EV Station Pluz และ Swap & Go ซึ่งเป็นธุรกิจให้บริการสลับแบตเตอรี่ แบบไม่ต้องรอชาร์จ รองรับการขยายตัวของผู้ใช้งานมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ให้สลับแบตเตอรี่ได้ไว ไปได้เร็ว สร้างต้นแบบนวัตกรรมพลังงานแห่งอนาคตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนประเทศไทยให้เปลี่ยนผ่านสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างยั่งยืน
อุตสาหกรรมการบินเป็นภาคส่วนหนึ่งที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง และเผชิญความท้าทายในการลดการปล่อยคาร์บอนจากการดำเนินธุรกิจ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคการบิน อ้างอิงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ดังนั้น การปรับเปลี่ยนน้ำมันเชื้อเพลิงจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ
น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ Sustainable Aviation Fuel: SAF เป็นน้ำมันที่มีคุณสมบัติทางเคมีที่คล้ายคลึงกับน้ำมันอากาศยานตามปกติ หรือน้ำมันเจ็ท โดย SAF สามารถผสมเข้าไปกับน้ำมันเจ็ทเพื่อให้ใช้ในเครื่องบินได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนหรือปรับปรุงเครื่องยนต์ ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการนำพลังงานสะอาดมาใช้ในอุตสาหกรรมการบิน
OR ในฐานะผู้นำตลาดในธุรกิจอากาศยานของไทยและเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงาน (Energy Solution) ได้มีการปรับตัวพร้อมเดินหน้ามุ่งสู่การเป็นผู้นำด้าน SAF ระดับประเทศและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ซึ่งประกอบด้วยคลังน้ำมันอากาศยาน 7 แห่ง และสถานีเติมน้ำมันอากาศยานกว่า 12 แห่งทั่วประเทศ โดยทั้งหมดดำเนินงานภายใต้มาตรฐาน JIG Standard ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยในปี 2567 ได้มีการขอการรับรองจากมาตรฐานสากล International Sustainability & Carbon Certification (ISCC) ในส่วนที่เป็นการรับรอง ISCC EU เพื่อให้สามารถจำหน่าย SAF ได้ตามข้อกำหนดและกฏระเบียบที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ในปี 2566 – 2567 ยังได้มีการทดสอบใช้ SAF สำหรับเที่ยวบินนำร่องซึ่งครอบคลุมสนามบินหลัก เมืองท่องเที่ยว และเที่ยวบินที่เดินทางต่างประเทศ ได้แก่ การบินไทย เส้นทางภูเก็ต–กรุงเทพฯ บางกอกแอร์เวย์ เส้นทางสมุย-กรุงเทพฯ และไทยเวียตเจ็ทแอร์ เส้นทางกรุงเทพฯ – ดานัง
นอกจากนี้ ในปี 2567 ที่ผ่านมา OR ร่วมมือกับ GC เพื่อศึกษาโอกาสทางการตลาดและกลยุทธ์การขาย SAF และร่วมพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ยั่งยืนสำหรับผสม SAF โดยนำกระบวนการ Co-Processing มาใช้ในอุตสาหกรรมการบินเป็นครั้งแรก เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิง รองรับนโยบายการบังคับใช้ SAF และสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินที่ยั่งยืนของประเทศไทย
รูปภาพความร่วมมือกับสายการบินสำหรับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF
OR ปรับกระบวนการขนส่งเมล็ดกาแฟ Café Amazon โดยการทดลองระบบการขนส่งสินค้าระยะไกล (Long-haul transportation) ด้วย EV Truck เป็นเจ้าแรกของประเทศไทย เพื่อขนส่งเมล็ดกาแฟดิบจากต้นทางที่โกดังเก็บเมล็ดกาแฟของ OR อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ มายังปลายทางที่โกดังเก็บเมล็ดกาแฟที่ศูนย์ธุรกิจไลฟ์สไตล์คาเฟ่อเมซอน (OASYS) อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อทดสอบความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี และความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ โดยใช้เครือข่ายสถานีชาร์จ EV Station PluZ ของ OR ในเส้นทาง “Green Coffee Bean Route” เป็นจุดพักเพื่อชาร์จไฟของรถขนส่ง โดยได้มีการลงนามความร่วมมือกับ WICE เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในกิจกรรมการขนส่งสินค้า ตลอดจนช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างต้นแบบของการนำห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจสู่ความเป็น Green ทั้งระบบนิเวศน์ของ OR และการพัฒนา Ecosystem ของกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
นอกจากนี้ OR ยังมีการปรับกระบวนการขนส่งเบเกอรี่จากโรงงานไปยังร้าน Café Amazon ในภาคกลาง และภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศ ให้เป็นการขนส่งแบบรักษ์โลกด้วย Green Logistics Solution โดยใช้นวัตกรรมขนส่งเย็นรูปแบบใหม่ที่ช่วยลดการใช้พลังงาน ภายใต้ความร่วมมือกับบมจ.เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ หรือ SCGJWD ตอบโจทย์การขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิทั่วประเทศ
ตัวอย่างของโครงการที่เกี่ยวข้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ OR ได้ดำเนินการในปี 2567 คือ โครงการ PTT Lubricants ส่งมอบชุดโต๊ะเรียนชุดแรกจากแคมเปญ “เซฟโลก เซฟรถ เพื่ออนาคตน้อง ๆ” ที่โรงเรียนบ้านผานัง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยเปลี่ยนแกลลอนน้ำมันหล่อลื่นเพอร์ฟอร์มา ซินเธติค อีโคคาร์ (Performa Synthetic Eco Car) ที่ใช้แล้ว จากผู้ใช้บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องภายในศูนย์บริการยานยนต์ FIT Auto ซึ่งแกลลอนดังกล่าวทำมาจากเม็ดพลาสติก PCR ไปผ่านกระบวนการอัพไซคลิ่ง แปรรูปเป็นวัสดุ Wood Plastic Composite เพื่อผลิตเป็นโต๊ะเรียน และเก้าอี้ ที่มีความแข็งแรง คงทน สำหรับนำไปบริจาคให้กับโรงเรียนในพื้นที่ขาดแคลน นำร่องพื้นที่แรก ณ โรงเรียนบ้านผานัง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
ปัจจุบันโครงการ “เซฟโลก เซฟรถ เพื่ออนาคตน้อง ๆ” ซึ่งเป็นโครงการบริจาคชุดโต๊ะนักเรียนที่ผลิตจากแกลลอนน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วจากศูนย์บริการยานยนต์ FIT Auto มาผ่านกระบวนการอัพไซคลิ่ง (Upcycling) โดยได้ส่งมอบชุดโต๊ะนักเรียนดังกล่าวไปยังโรงเรียนในพื้นที่ขาดแคลนแล้วจำนวน 5 โรงเรียน เป็นจำนวนชุดโต๊ะนักเรียน 100 ชุด สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,600 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า
นอกจากนี้ OR ยังมีการจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยในปี 2567 มีการดำเนินการขึ้นทะเบียนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการ T-VER ได้แก่
1. โครงการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพทดแทนน้ำมันดีเซล/เบนซินชนิดพื้นฐานของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ Promotion of Fuel Switching from Gasoline/Diesel Based Fuel to Blended Biofuels by PTT Oil and Retail Business Public Company Limited
2. โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา (ระยะที่ 1) บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ Solar Rooftop Project (Phase 1) by PTT Oil and Retail Business Public Company Limited
3. โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา (ระยะที่ 2) ของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ Solar Rooftop Project (Phase II) by PTT Oil and Retail Business Public Company Limited
4. โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ประเภทป่าไม้และพื้นที่สีเขียวจังหวัดเชียงรายและพะเยา โดยบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และกรมป่าไม้
ในปี 2567 OR ได้รับการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (CFP) จำนวน 12 รายการ และ ฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint Reduction label: CFR) หรือ “ฉลากลดโลกร้อน” จำนวน 3 รายการ จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ Thailand Greenhouse Gas Management Organization (TGO) การได้รับการรับรองครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ OR ในการดำเนินการตามแนวคิด OR SDG โดยเฉพาะด้าน G – GREEN โอกาสเพื่อสังคมสะอาด ที่มุ่งผลักดันให้ธุรกิจทุกประเภทของ OR เป็นธุรกิจสีเขียว โดยผลิตภัณฑ์ Café Amazon ที่ได้รับการรับรอง CFP ครอบคลุมทั้งเครื่องดื่ม Iced Black Coffee กาแฟคั่วเต็มเมล็ด กาแฟดริปและดริปแต่งกลิ่น และกาแฟแคปซูลและแคปซูลแต่งกลิ่น รวมทั้งสิ้น 12 รายการ นอกจากนี้ ยังมี 3 ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าร้อยละ 2 จากปีฐาน ตามเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมาย CFR จนได้รับเครื่องหมายดังกล่าว ได้แก่ Café Amazon Drip Coffee Signature, Café Amazon Coffee Capsule Amazon Signature และ Café Amazon Coffee Capsule Amazon Selected ซึ่งทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์นี้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าร้อยละ 13 สำหรับกาแฟดริปและมากกว่าร้อยละ 30 สำหรับกาแฟแคปซูลตามลำดับ
เพื่อเป็นการสนับสนุนกิจกรรมการลดและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่สถานีบริการน้ำมัน PTT Station OR ได้ดำเนินโครงการตรวจประเมินการดูดซับก๊าซเรือนกระจกของต้นไม้ภายในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station COCO จำนวน 8 สาขา และได้รับใบประกาศเกียรติคุณโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (LESS) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ในวันที่ 28 สิงหาคม 2567
ในปี 2567 นี้ OR ได้มีการยื่นขอรับการรับรองฉลากสิ่งแวดล้อม ของกลุ่ม ปตท. ภายใต้ตราสัญลักษณ์ PTT Green for life ที่จัดทำขึ้นตามมาตรฐานสากล ISO-14021: 2016 เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินธุรกิจของ OR นั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของ OR โดยบริการที่ได้รับการรับรองตราสัญลักษณ์ PTT Green for life ประกอบด้วย สถานีบริการน้ำมัน จำนวน 80 สถานี และ โรงซ่อมสีถังก๊าซหุงต้ม จำนวน 3 แห่ง โดยหัวข้อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ได้รับรอง ประกอบด้วย 5 หัวข้อ ดังนี้
1. OR เป็นส่วนหนึ่งในองค์กรสมาชิกขององค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council For Sustainable Development) ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย รวมถึงการแสดงเจตนารมณ์ว่า OR มีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านความยั่งยืน มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และการเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2593
2. OR ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมการประกาศเจตนารมณ์ เครือข่ายอนุรักษ์พลังงาน “Energy Beyond Standard 2024” เพื่อเป็นการให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์พลังงานอย่างจริงจัง กระตุ้นให้เกิดกระแสความสนใจด้านอนุรักษ์พลังงานที่ในระยะยาวจะก่อให้เกิดเครือข่ายการให้คำปรึกษาหรือความช่วยเหลือเพื่อลดการใช้พลังงาน สามารถสร้างเวทีความร่วมมือด้านการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานภายในอาคาร โรงงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะทำให้เกิดผลการประหยัดพลังงานแล้ว ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เพื่อบรรลุสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero GHG Emission) ในปี พ.ศ.2608