การบริหารจัดการน้ำและการน้ำเสีย 

ความสำคัญ

(GRI 3-3a., GRI 3-3b.)

                 ทรัพยากรน้ำ เป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อการดำเนินกิจการของ OR ทั้งในกลุ่มธุรกิจ Mobility และกลุ่มธุรกิจ Lifestyle ไม่ว่าจะเป็นด้านการใช้น้ำ ซึ่งในบางพื้นที่อาจมีความเสี่ยงด้านการขาดแคลนน้ำอันเนื่องมาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก และด้านการบริหารจัดการน้ำเสียและน้ำทิ้งจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานและข้อกำหนดตามกฎหมาย รวมถึงการบริหารจัดการน้ำที่พิจารณาถึงความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องด้วย
                 ด้วยเหตุนี้ OR จึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่การประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ รวมถึงการดำเนินการด้านทรัพยากรน้ำ และการจัดการน้ำเสียที่เกิดจากกิจกรรมของสถานประกอบการ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดชะงัก สามารถใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ

เป้าหมายปี 2567

(GRI 3-3e.)

แนวทางการบริหารจัดการ

(GRI 3-3c., GRI 3-3d., GRI 3-3e., GRI 3-3f)

การบริหารจัดการน้ำ

                 OR ส่งเสริมแนวคิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยน้ำเป็นหนึ่งในทรัพยากรที่สำคัญ ดังนั้น OR จึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยบูรณาการเข้ากับนโยบาย QSHE และเป้าหมายประจำปี รวมถึงจัดให้มีการบริหารจัดการน้ำ ดังนี้

    • การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดผลกระทบจากการการดำเนินธุรกิจ โดยอ้างอิงการใช้ข้อมูลจากมาตรฐานสากล เช่น AQUEDUCT และ Water Risk Filter เป็นต้น เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือประเมินการใช้น้ำ และ พัฒนาไปสู่การปรับปรุงการใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Water use assessment to identify opportunities for water efficiency improvements) โดยแหล่งน้ำที่ OR มีการดึงมาใช้ ได้แก่ น้ำประปา น้ำใต้ดิน ซึ่งผลการประเมินพบว่า มีพื้นที่ 70.3 % ของสถานประกอบการ ที่จัดอยู่ในพื้นที่ Water Stress Area ซึ่ง OR มีการบริหารจัดการการใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในกระบวนการผลิต นำน้ำกลับมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ มุ่งเน้นการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า มีการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการน้ำ และความรับผิดชอบต่อการใช้น้ำตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต เช่น การบำบัดน้ำเสียเพื่อนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ การรณรงค์และปลูกจิตสำนึกให้พื้นที่สำนักงานร่วมมือกันใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เป็นต้น เพื่อลดผลกระทบจากการใช้ทรัพยากรน้ำที่นำมาใช้ในการดำเนินงาน และบรรเทาผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของชุมชน สังคม และสิ่งมีชีวิตโดยรอบ
    • การประเมินการใช้น้ำเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ผ่านระบบการบริหารจัดการตามมาตรฐาน ISO 14001:2015 ซึ่งได้รับการตรวจสอบเป็นประจำทุกปี โดยได้บันทึกข้อมูลการใช้น้ำจากทุกพื้นที่ปฏิบัติการไว้บน Web-Application: PTT Group SSHE Performance Database อย่างสม่ำเสมอ บันทึกข้อมูลดังกล่าวจะถูกสรุปและวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบปริมาณการใช้น้ำกับเป้าหมายการลดการใช้น้ำที่ตั้งไว้ (QSHE Controlling Target) ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวถูกใช้ทั่วทั้งองค์กร
    • นอกจากนี้ OR ยังมีการติดตามสถานการณ์น้ำทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก เช่น กฎระเบียบ ปริมาณน้ำ คุณภาพน้ำ รวมถึงนโยบายด้านน้ำ รวมถึงการดำเนินงานร่วมกับกลุ่ม ปตท. หรือหน่วยงานภายนอก หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการจัดการการบริหารจัดการน้ำ ส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนต่อไป

                 นอกจากแนวทางการบริหารจัดการน้ำข้างต้น OR ยังดำเนินโครงการลดการใช้น้ำ (Action to reduce water consumption) ณ อาคารสำนักงาน รวมถึงสถานประกอบกิจการที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงงานซ่อมบำรุงถังก๊าซหุงต้มทุกพื้นที่ กลุ่มโรงงานศูนย์ธุรกิจไลฟ์สไตล์ (OASYS) รวมถึงสถานีบริการน้ำมันบางแห่งได้มีการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเพื่อนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ (Water Recycled) แล้วอีกด้วย และ ในปี 2567 OR ได้มีการจัดตั้งเป้าหมายการใช้น้ำขององค์กร (Establishment of targets to reduce water use) โดยกำหนดเป้าหมายควบคุมการใช้น้ำแบ่งแยกตามแต่ละสถานประกอบการ และได้บูรณาการและเชื่อมโยงแนวคิดการลดการใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านโครงการ PI Idea หรือ Productivity Improvement โดยมีแนวคิดในการส่งเสริมผลักดันให้พนักงานและหน่วยงานมีแนวคิดในการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองเป้าหมายขององค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีเกณฑ์การให้คะแนนคือจะต้องเป็นโครงการที่ให้ผลลัพธ์ตามการดำเนินธุรกิจแบบ Triple Bottom Line ที่ให้ความสำคัญกับ 3P ได้แก่ Planet People และ Performance โดยประเด็นด้านการลดการใช้น้ำ เป็นประเด็นภายใต้หัวข้อ Planet ที่ OR ให้ความสำคัญ อีกทั้งยังมีการจัดอบรมเพื่อเน้นความตระหนักรู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Awareness training provided to employees on water efficiency management programs) ให้กับพนักงานผ่านหลักสูตร SSHE 1 Training

รูปภาพ บ่อหมุนเวียนน้ำใช้ของโรงงานซ่อมบำรุงถังก๊าซหุงต้มภาคใต้

การจัดการด้านน้ำเสีย

                   OR ปฏิบัติตามกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม มาตรฐานสากล และข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การดําเนินงานทั้งหมดจึงเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ โดยรายละเอียดการบริหารจัดการน้ำเสียของ OR มีรายละเอียดดังนี้

      • OR ลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการบําบัดน้ำเสียตามประเภทของน้ำทิ้ง เพื่อให้มั่นใจว่าคุณภาพน้ำทิ้งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดและตามกฎหมายก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยมีพารามิเตอร์ที่ต้องควบคุม อาทิ ปริมาณออกซิเจนที่จุลินทรีย์ใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ที่อยู่ในน้ำ (BOD) ปริมาณออกซิเจนที่สารเคมีใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ (COD) ความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ (pH) ปริมาณของแข็งแขวนลอย (SS) ปริมาณของแข็ง สารอนินทรีย์ และอินทรีย์ทั้งหมดที่ละลายอยู่ในน้ำ (TDS) ครอบคลุมทุกสถานที่ปฏิบัติการของ OR นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำเสียโดยหน่วยงานภายนอก ตลอดจนตรวจสอบโดยห้องปฏิบัติการของ OR อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่ามีการปฏิบัติตามข้อกําหนดอย่างครบถ้วน สม่ำเสมอ
      • พัฒนาระบบบําบัดน้ำเสียแบบรวมศูนย์ (Centralized Wastewater Treatment System) เพื่อมุ่งเน้นการลดปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้น และนําระบบบำบัดน้ำเสียนี้ไปปรับใช้กับสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ที่มีการปรับปรุงและในสาขาใหม่ ควบคู่ไปกับการควบคุมการปล่อยน้ำทิ้ง เพื่อให้เป็นไปตามข้อกําหนดที่กฎหมายกำหนด ก่อนระบายออกสู่ระบบน้ำสาธารณะ
      • ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย (Waste Water treatment Plant) และระบบผลิตน้ำรีไซเคิล (Recycle Water Treatment Plant) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการนำน้ำเสียมาผ่านกระบวนการบำบัดแบบเอสบีอาร์ (Sequencing Batch Reactor) และระบผลิตน้ำแบบ UF (Ultrafiltration) เพื่อนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ และไม่มีการปล่อยน้ำออกสู่ภายนอก (Zero discharge) โดยใช้กับกลุ่มโรงงานศูนย์ธุรกิจไลฟ์สไตล์ (OASYS) อีกทั้งยังเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย เนื่องจากตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีการระบุให้โรงงานในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียประสิทธิภาพสูง จนนำน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด หรือมีระบบกักเก็บน้ำห้ามรั่วซึมลงแหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งการบริหารจัดการน้ำของกลุ่ม OASYS สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ป้องกันการปล่อยน้ำเสียและสารปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม เพิ่มการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ลดความต้องการในการดึงน้ำจากภายนอกเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต เป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอีกด้วย

                   นอกจากนี้ OR ยังมีการติดตั้งระบบหมุนเวียนน้ำใช้ สำหรับโรงงานซ่อมบำรุงถังก๊าซหุงต้มทุกพื้นที่เพื่อนำน้ำที่ใช้ในกระบวนการทดสอบ Hydrostatic Test และ Expansion Test  ของถังก๊าซหุงต้มปิโตรเลียมเหลวกลับมาใช้ทดสอบในกระบวนการเดิมอีกครั้ง ทำให้สามารถลดการดึงน้ำจากภายนอก และเป็นแนวทางในการบริการจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                       OR นําแนวคิดการนําน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ (Application of water recycling)  โดยให้ความสำคัญไปที่ การนำน้ำเสียที่เกิดจากการใช้งานทั่วไปไม่มีการปนเปื้อนกลับมาใช้ใหม่ (Reuse of Grey Water) การกักเก็บน้ำฝน (Rainwater Harvesting) การนำน้ำจากหอหล่อเย็น (Cooling Tower) กลับมาใช้ใหม่ รวมถึงกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้ง (Actions to improve wastewater quality)   เช่น การปรับปรุงกระบวนการการตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้ง และการสุ่มตัวอย่างเป็นระยะ เป็นต้น โดยโครงการสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการน้ำเสียและพัฒนาคุณภาพน้ำเสีย ได้แก่

      • โครงการที่ OR มีการนำการบริหารจัดการน้ำมาใช้ในธุรกิจต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มโรงงานศูนย์ธุรกิจไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Business Center: OASYS) โรงงานซ่อมบำรุงถังก๊าซหุงต้ม (LPG cylinder refurbishing plants) อาคารสำนักงานพระโขนง และ PTT Stations สาขาเชียงคาน วังจันทร์ ถนนวงแหวนรอบนอกตะวันตก (ขาเข้า) และวิภาวดี 62
      • OR ได้ลงทุนในระบบ Ultra Filtration Recycle สำหรับสถานีบริการ PTT Station สาขาวิภาวดี 62 ซึ่งระบบดังกล่าวไม่มีการใช้สารเคมีจึงสามารถนําน้ำกลับมาใช้รดน้ำต้นไม้ได้ตามมาตรฐาน US EPA

                       เพื่อให้มั่นใจว่าคุณภาพน้ำทิ้งจะเป็นไปตามมาตรฐานการระบายน้ำทิ้งในทุกพื้นที่ และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือชุมชนใกล้เคียง  OR ได้ยังกำหนดให้มีการตรวจติดตามคุณภาพน้ำทิ้งอย่างสม่ำเสมอ โดยจากการตรวจติดตามคุณภาพน้ำทิ้งโดย Mobile Lab ยังไม่พบประเด็นด้านคุณภาพน้ำทิ้งไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดในปี 2567 และ OR ยังมีช่องทางสำหรับร้องเรียนรวมถึงแสดงความคิดเห็นสำหรับบุคคลทั่วไป ผ่านศูนย์บริหารคำสั่งซื้อและลูกค้าสัมพันธ์ Contact Center 1365 และ Website ในกรณีพบเจอปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านน้ำเสีย ข้อร้องเรียน/ความคิดเห็นที่ได้รับ จะถูกนำมาปรับปรุงขั้นตอนการบริหารจัดการต่อไป

                       นอกจากนี้ เพื่อลดการใช้สารเคมีและสารตกค้างในน้ำทิ้งที่ปล่อยออกจากการดำเนินธุรกิจ OR จึงได้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ENVICCO ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใน PTT Station และ ร้าน Café Amazon ที่ดำเนินการโดย OR ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายตัวเองได้ตามธรรมชาติ ลดการใช้สารเคมี และสารตกค้างสู่สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการจัดจำหน่ายให้แก่ลูกค้าเพื่อเป็นรณรงค์การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ผลการดำเนินงาน

  1. โครงการบริหารจัดการการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

                   OR มีการดำเนินโครงการบริหารจัดการการใช้น้ำซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 OR ได้ดำเนินการดังต่อไปนี้